รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เรียกว่าได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมากสำหรับ กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ อายุ 25 ปี หรือ “ลัลลาเบล” พริตตี้สาวสวย ที่เสียชีวิตในล็อบบี้คอนโดฯ แห่งหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าผลชันสูตรเบื้องต้นพบว่า พริตตี้สาวสวยเสียชีวิตจากการช็อกเพราะดื่มสุรา (Alcohol intoxication) โดยพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด สูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และไม่พบสารเสพติดในร่างกายและดีเอ็นเอของผู้อื่นในร่างกาย
ในส่วนของการดำเนินคดีผู้กระทำผิดนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อ คือ กระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กระทำอนาจาร และกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยจากหลักฐานที่ปรากฏในคดีนี้จะมีผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว ซึ่งแม้จะคาดการณ์ว่าผู้กระทำผิด ก็คือ นายรัชเดช วงศ์ทะบุตร หรือ น้ำอุ่น ซึ่งอยู่กับพริตตี้สาวเป็นคนสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าหากภายหลังสอบปากคำขยายผล มีหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงใครก็จะแต่งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
ณ วันนี้ แม้ในเรื่องของการดำเนินคดีจะสามารถคลี่คลายไปได้ไม่น้อย แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า กรณีลันลาเบล เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ถึงสภาพความเป็นจริงของปัญหาต่างๆ (ที่หลายๆ คนไม่เคยรู้มากก่อน) ซึ่งซุกอยู่ในพรม...ซ่อนอยู่ในซอกหลืบของสังคมไทย
ประเด็นแรกที่ต้องถูกนำมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ก็คือ “งานเอน” ย่อมาจาก Entertainment เป็นอาชีพอิสระ คุณสมบัติ คือ หน้าตาต้องดี พูดคุยสนุก รักงานบริการ ไม่เขินอาย พบปะสังสรรค์ ทำได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งการเอนเตอร์เทนมีหลายระดับ ตั้งแต่ชงเหล้าไปจนถึงระดับ “เอนเตอร์เทน VIP” หรือ “เอนวิป” ที่จบบนเตียง ซึ่งดูเหมือนจะเข้าข่ายการเป็น “โสเภณี” เพราะมีลักษณะการค้าบริการทางเพศที่ได้รับค่าตอบแทน ในมุมหนึ่งคนที่มาทำอาชีพนี้ ได้ค่าตอบแทนสูงอาจเป็นเพราะความจำเป็นในครอบครัว สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องเรียนรู้กันต่อไป
ยาเสียสาวถูกเรียกว่า “น้ำปลา” GHB หรือ Gamma Hydroxybutyrate คือ อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกนำมาพูดถึง โดยสาร GHB เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ทำให้ระบบการทำงานของสมองและประสาทส่วนกลางทำงานช้าลง นิยมใช้กันในกลุ่มนักเล่นกล้าม แต่ในปัจจุบันมีผู้นำไปใช้ในสถานบันเทิง เพื่อวัตถุประสงค์ในการคุกคามทางเพศ ซึ่งจากการที่เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ทำให้ง่ายต่อการนำไปผสมกับเครื่องดื่มต่างๆ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ในระยะเวลาประมาณ 10-20 นาที ทำให้เกิดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ภาพตัดจำอะไรไม่ได้ ซึ่งประเภทนี้จัดว่าเป็น ”สิ่งผิดกฎหมาย”
หรือแม้แต่ “การช็อกจากการดื่มสุรา” เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป จนทำให้มีฤทธิ์คล้ายกับยาสลบ คือ ไม่รู้สึกตัว และกดการหายใจ เพราะพิษของแอลกอฮอล์ จะกดการทำงานของสมอง โดยเฉพาะ ก้านสมอง (Brain stem) และศูนย์ควบคุมการเต้นของหัวใจ (Reticular formation) ในก้านสมอง
ทั้งนี้ การได้รับแอลกอฮอล์ หรือสุราเข้าไปเป็นปริมาณมาก จะส่งผลให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขึ้นทันที และแอลกอฮอล์ในเลือดระดับต่างๆ จะส่งผลต่อระบบประสาท ดังต่อไปนี้ ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการครึกครื้น สนุกสนานร่าเริง
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการของการควบควบคุมการเคลื่อนไหวเสียไป ไม่สามารถควบคุมได้ดีเท่าภาวะปกติ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการเดินไม่ตรงทาง ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเกิดอาการสับสน ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการ ง่วง สับสน/งงงวย และซึม
แต่ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ผู้ดื่มจะเกิดอาการสลบ และอาจถึงตายได้
นี่คือ ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากกรณีลันลาเบล ต้องขอย้ำชัดชัดอีกครั้งว่า ที่พูดไปนั้น เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว กรณีดังกล่าว ยังสะท้อนให้เห็นอีกหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ในทุกเทศกาลและวาระโอกาสของคนในสังคม พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คนในสังคมจำนวนไม่น้อยรักสบายและตกเป็นทาสเงินตรา หรือแม้แต่คนในสังคมไม่มีน้ำใจต่อกัน และไม่ช่วยเหลือกัน
เรียกได้ว่าเมื่อมองสังคมไทย ณ วันนี้ ผ่านกรณีลันลาเบล ก็จะพบเจอสิ่งต่างๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ ซึ่งคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ตัวการสำคัญ” ของปัญหา ที่ไม่อาจมองข้าม ก็คือ “ความตกต่ำด้านคุณธรรมจริยธรรม” ของคนในสังคม
ความเห็นอกเห็นใจต่อ “ลัลลาเบล” ถือเป็นเรื่องดีดีของสังคมไทย แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ ก็อยากให้หันมาเห็นอกเห็นใจ “สังคมไทย” และรวมกันแก้ไข “วิกฤติด้านคุณธรรมจริยธรรม” ซึ่งการแก้ไขนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในสังคม..!!
แล้วเริ่มต้นแก้ไขอย่างไร? ...เอาเป็นว่าเริ่มจากการมี “รอยยิ้ม” ที่จริงใจต่อกัน สมกับคำว่า “สยามเมืองยิ้ม” (Thailand: Land of Smile) ให้ได้ก่อนก็แล้วกัน...!!