ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช วิจารณ์ปัญหาเรื่องการใช้อำนาจทางโลกของพุทธจักรอย่างไม่ถูกต้อง และวิจารร์การที่ราชการไม่กล้าจัดการกับปัญหาในพุทธจักรว่าทางราชการถือว่าพุทธจักรเหมือน “รัฐวาติกันในเมืองไทย” (บทความ “สยามรัฐหน้า ๕” ฉบับวันที่ 31 มกราคม 2513 )
“ตามเนื้อข่าวบอกไว้ว่า
‘บริเวณพระพุทธบาทได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามไว้ประมาณ 6268 ไร่ และมีปัญหาต่าง ๆ ซึ่งได้เรื้อรังมานานนับเป็นปี ๆ ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นมือเข้าไปแก้ไขให้สำเร็จเด็ดขาดไปได้ และจังหวัดอำเภอจะเข้าไปดำเนินการเองก็ไม่ถนัดนัก เพราะเกรงจะเป็นการก้าวก่ายกับฝ่ายสงฆ์’ ข้อความตอนท้ายนี้สำคัญยิ่ง
เพราะแสดงให้เห็นชัดเจนว่าทางราชการในปัจจุบันถือว่ามีรัฐวาติกันเป็นเอกราชขึ้นในเมืองไทยที่ดินใด สถานที่ใด ตลอดจนโบราณสถานต่าง ๆ ที่มีสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ทางราชการก็ไม่กล้าเข้าไปก้าวก่าย เถรเรือลอยที่ไหนจะไปจับวัดร้างเข้าวัดหนึ่งแล้วยกตัวเองขึ้นเป็นสมภาร ตังหน้าตั้งตาทำลายโบราณสถานอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ในวัดนั้น ทางราชการก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปห้ามปราม......
รัฐวาติกันในเมืองไทยนี้มีอำนาจเก็บภาษีจากความความศรัทธาขงประชาชน โดยที่ทางราชการไม่กล้าเข้าไปก้าวก่ายอีกเช่นเดียวกัน ใครมีศรัทธามากก็เสียภาษีมาก ทางรัฐวาติกันเมืองไทยก็เอาเงินภาษีนั้นไปสร้างสิ่งไม่บังเกิดผลทางเศรษฐกิจแก่ใครเลย นอกจากผู้สร้าง
เช่นสร้างพระพุทธรูประฟ้าขึ้นกลางทุ่ง........ปัญหาเรื่องอำนาจทางโลกของทางพุทธจักรนี้ เป็นปัญหาที่คนในสมัยก่อนได้คิดมาแล้ว และได้แก้ไขไว้แล้วด้วยการโอนเอาพุทธจักรนี้มาขึ้นกับอาณาจักร
พระมีสมณศักดิ์ก็เพราะเหตุนั้นเพราะเมื่อพระมีสมณศักดิ์แล้ว พระก็ต้องมีสัญญาบัตร หิรัญบัตร และสุพรรณบัฏ เช่นเดียวกับขุนนาง องค์ไหนทำความชอบแก่ราชการก็เลื่อนสมณศักดิ์ เพิ่มนิตยภัตให้
องค์ไหนทำผิดก็ถอดได้ แม้แต่เมื่อรับนิมนต์คนอื่นเขาไว้แล้ว มีหมายงานหลวงมาก็ต้องบอกเลิกนิมนต์ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ราชการสำคัญกว่ากิจส่วนตัว เมื่อปัญหานี้ได้แก้ไขไว้ดีแล้ว การที่ทางราชการยังเกรงกลัวไม่กล้าที่จะเข้าไปก้าวก่ายกับทางสงฆ์ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก"”