ดูเหมือนในสถานการณ์การเมืองของรัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำลังตกเป็นฝ่ายเพี่ยงพล้ำ จากวาทกรรมน้ำท่วมที่เรียกว่า โดน “ทั้งขึ้น-ทั้งล่อง”นั้น ก็เป็นจังหวะที่เขาได้มีคิวเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สลับฉากให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาล่อเป้าการเมืองแทน ภายหลังเปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ถูกจับจ้องทั้งกรณีให้เงินกู้ยืมกับพรรคอนาคตใหม่และกรณีไม่นำทรัพย์สินเข้าบลายทรัสต์ตามที่ประกาศไว้ สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จึงถือว่าได้พักหายใจบ้าง แม้จะมีกลุ่มต่อต้านจากคนไทยในต่างประเทศที่ถือโอกาสนี้ในการดิสเครดิตอดีตผู้นำรัฐประหารก็ตาม แต่ก็มีภาพของคนที่มาให้กำลังใจ หรือกองหนุนของพล.อ.ประยุทธ์ กระนั้น ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้พบปะชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกา และถือโอกาสนี้สื่อสารกับกลุ่มคนไทยในนิวยอร์ค โดยพูดถึงผลงานของรัฐบาลชุดเก่า ที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยดำเนินการปฏิรูปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และได้ออกกฎหมายและปรับปรุงกฎหมายรวมกว่า 400 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามแก้ไขปัญหาสังคมที่คั่งค้างมานาน เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงาน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เน้นการแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิต และการปรับปรุงระบบสวัสดิการเพื่อประชาชนโดยมีแผนดำเนินการที่เป็นรูปธรรม อีกสิ่งสำคัญที่รัฐบาลมุ่งเน้นก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ดีจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สานต่อการพัฒนาและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจตามวิสัยทัศน์ ประเทศไทย 4.0 บนรากฐานการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างสรรค์โดยเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตใน 10+2 สาขา ส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม (smart cities) ในจังหวัดหลัก ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างงานและอาชีพต่อเนื่องในอีกหลายประเภท นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่สุดให้มีความพร้อมไปสู่ศตวรรษใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ กำหนดนโยบายการศึกษาเป็นวาระเร่งด่วนในทุกระดับ ส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างรายได้ กำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สำหรับการรับมือกับสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่แน่นอน รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนจากความขัดแย้งกีดกันทางการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการรับมือไว้ในหลายลักษณะ เช่น การเจรจาข้อตกลงทางการค้าอาเซียน+6 หรือที่เรียกว่า RCEP การแสวงหาและร่วมมือกับคู่ค้าคู่ลงทุนใหม่ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้คนไทยทุกคนสำหรับกำลังใจและการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อร่วมกันนำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน การเดินทางไปนิวยอร์กครั้งนี้ นอกจากจะพักเบรกจากแรงเสียดทานทางการเมืองแล้ว ยังได้ไปหากองหนุนอีกด้วย