ทีมข่าวคิดลึก
ดูเหมือนว่า ภารกิจของ "กองทัพ" ในยุคที่มี "บิ๊กเจี๊ยบ"พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในยุคที่ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือคสช. กำหนดและควบคุมทุกความเป็นไป ในการขับเคลื่อนประเทศ ได้ทำให้กองทัพและ "ทหาร" มีบทบาทมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในเบื้องหน้าและหลังฉากของเวทีการเมือง !
"สำหรับสถานการณ์ในอนาคตนับแต่นี้ต่อไปพวกเราตระหนักว่ากองทัพบกเป็นกำลังหลักที่จะต้องดูแลความมั่นคงให้รัฐบาล เพื่อบริหารประเทศได้ตามแนวทางที่กำหนด" พล.อ.เฉลิมชัย ได้กล่าวเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ครั้งที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกองทัพภาคที่ 1 โดยศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่1 (ศปก.ทภ1.) และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองทัพภาคที่ 1 ซึ่งในวันดังกล่าว มี"บิ๊กแดง" พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์แม่ทัพภาคที่ 1 ได้ให้การต้อนรับ
ล่าสุดบิ๊กเจี๊ยบ ได้ส่งสัญญาณที่น่าสนใจอีกครั้ง เมื่อคราวเดิน ทางไปเป็นประธานในพิธีวันรบพิเศษครบรอบ 51 ปี ที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) จ.ลพบุรี เมื่อ24 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำภารกิจของหน่วยรบพิเศษว่าเป็นหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของการรักษาความสงบ
รวมทั้งยังบอกด้วยว่า "การสร้างความปรองดอง" ยังถือเป็นภาพรวมของคนทั้งชาติ รวมทั้ง "รบพิเศษ"เองด้วย ดังนั้นก็พร้อมที่จะให้ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ของรบพิเศษช่วยทำหน้าที่เสริมสร้างความรักความสามัคคีให้กับพี่น้องประชาชนพร้อมทั้งความเข้าให้กับคนในชาติ
ในความเป็นจริงแล้วการปฏิบัติภารกิจของกองทัพ ในฐานะกำลังหลักสำคัญของ คสช. นั้นได้ถูกวางแผนการเล่นเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่22 พ.ค. 2557 ด้วยซ้ำ ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่มีเสียงโวยวายดังเล็ดลอดออกมาจาก "ฝ่ายตรงข้าม คสช." ในท่วงทำนองที่ว่าถูก "บล็อก"ในระดับพื้นที่อย่างหนักและต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะไม่เพียงแต่ พรรคการเมืองจะไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้เท่านั้น หากแต่ "แกนนำ" ทั้งถูกเชิญตัวเรียกเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ กันมาแล้วแทบนับครั้งไม่ถ้วน
ขณะที่การพูดคุยเวทีการสร้างความปรองดองที่กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน ตามวาระ และเสมือนงานรูทีน แต่ทว่า ยังไม่มีความหวือหวา นอกเหนือไป จากโปรแกรมสำคัญที่ต้องจับตาคือการเข้าหารือพูดคุยของ "พรรคเพื่อไทย"ในวันที่ 8 มี.ค. และวันที่ 15 มี.ค. จะเป็นคิวของ "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยตอต้านเผด็จการแห่งชาติ" หรือ นปช.เพราะทั้งเพื่อไทยและ นปช. คือกลไกการเมืองในมือ "ทักษิณ ชินวัตร"อดีตนายกฯ จะรับบัญชาหรือเงื่อนไขอะไรบ้างในการเข้าเจรจาแม้จะมีข่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ทักษิณ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างความปรองดองของรัฐบาล และ คสช.หากแต่ใจจดจ่ออยู่ที่การ "จัดทัพ"ลงสนามเลือกตั้งครั้งใหม่มากกว่า !
แน่นอนว่าทุกความเคลื่อนไหวของกองทัพนั้นอยู่ในสายตาของฝ่ายการเมืองมาโดยตลอด เนื่องจากกองทัพนั้นดำรงเอาไว้ด้วยความได้เปรียบ ทั้งในแง่กำลังพลที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมว่า กองทัพได้ดึงเอากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)แต่ละภาค เข้ามาเสริมภารกิจในครั้งนี้อีกด้วย โดยจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาเพื่อเชิญทุกภาคส่วนมาพูดคุย จะใช้เวลาราว 1 เดือนทั้งที่เป็นอันรับรู้กันมาโดยตลอดว่าการเคลื่อนไหวของกองทัพ ผ่านทุกกลไกที่มีอยู่นั้น ได้ขยับรุกเข้าหามวลชน โดยไม่ต้องรอ "คำสั่งอย่างเป็นทางการ" มาตั้งนานแล้ว