ทวี สุรฤทธิกุล ประชานิยมคือแนวคิดที่เน้น “การเอาใจประชาชน” ในหัวข้อการประชุมหัวข้อหนึ่งที่ผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมในการประชุมประจำปีของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (APSA) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็คือ “Populism in Emerging Countries” ที่มีผู้เสนอบทความวิจัย 5 คน แต่ละคนกล่าวถึง Populism หรือความคิดเรื่อง “ประชานิยม” ในประเทศที่กำลัง “โผล่ขึ้นมา” (Emerging) ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีคนหนึ่งกล่าวถึงประชานิยมในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีการกล่าวถึงประเทศไทยด้วย งานวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยสมัยใหม่ที่นำเสนอข้อมูลด้วยตัวเลขเชิงสถิติค่อนค้างเยอะ อย่างที่เรียกว่างานวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งอาจจะค่อนข้างจะเข้าใจยากสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย แม้แต่กับนักวิชาการด้วยกันเช่นผู้เขียนคนหนึ่งนี้ด้วย แต่ก็พอจับใจความอย่างย่นย่อได้ว่า สาเหตุการเกิดประชานิยมในประเทศเหล่านี้ก็คือ ประการแรก ประเทศมักจะอยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น เป็นภาวะหลังสงครามใหญ่ หรือมีสงครามกลางเมือง หรือมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง ประการต่อมา มีผู้นำที่มีลักษณะ “อัตตาธิปไตย” หรือเป็นเผด็จการค่อนข้างสูง ในขณะที่ประชาชนมีความรู้หรือมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย และประการสุดท้าย อาจจะมีการแทรกแซงจากต่างชาติ เช่น ชาติมหาอำนาจเข้ามาถือหางหรือสนับสนุนผู้นำบางคน เพื่อประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจนั้น เป็นต้นว่า เรื่องการค้า และเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ จากการคิดตามของตัวผู้เขียนเอง ประเทศไทยก็อยู่ภายใต้ปัจจัยทั้งสามข้อนั้นทั้งหมด คือข้อแรกอันเป็นปัจจัยหลักสำหรับประเทศไทยก็คือ เรามีผู้นำที่เป็นเผด็จการ ในที่นี้ก็คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการครอบงำระบบรัฐสภา และมีอิทธิพลเหนือสถาบันอื่นๆ ในประเทศ อย่างที่เรียกว่า “มักใหญ่ใฝ่สูง” ซึ่งนำมาสู่ปัจจัยข้อต่อมา คือก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในบ้านเมือง ทั้งในส่วนของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่กลัวจะ “ไม่มีพื้นที่” ไม่มีสมาชิกเหลือรอดอยู่ในรัฐสภา และกับคนที่เกรงว่าสถาบันเบื้องสูงอาจจะได้รับผลกระทบจากความมักใหญ่ใฝ่สูงของผู้นำคนนี้ จนมาถึงข้อสุดท้ายก็คือ มีประเทศมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงค่อนข้างชัดเจน อย่างเช่นในกรณีที่ทูตสหรัฐในช่วงนั้นได้ออกมาให้ความเห็นในเชิงที่ “เห็นดีเห็นงาม” กับการครองอำนาจของ ดร.ทักษิณ และเมื่อ ดร.ทักษิณ ถูกขับไล่ออกนอกประเทศไทย สหรัฐก็ยังมีทีท่าที่โจมตีผู้นำไทยที่ทำการขับไล่ ดร.ทักษิณนั้นด้วย ผู้นำเสนอได้บรรยายว่า ประชานิยมสมัยเก่าและสมัยใหม่มีความแตกต่างกันพอควร ดังที่ทราบกันแล้ว(ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว)ว่า ประชานิยมในยุคแรกที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 200 ปีก่อน เป็นเรื่องของการ “เอาใจมวลชน” คือกลุ่มคนจำนวนมากในเรื่องของการคุ้มครองอาชีพและสวัสดิการ อันเป็นแนวคิดของพวกสังคมนิยม จนกระทั่งแตกออกไปเป็นแนวคิดทางการเมืองเชิงลึกอีกมากมาย เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิรัฐสวัสดิการ รวมถึงลัทธิต่อต้านทุนนิยมและศักดินานิยมต่างๆ เป็นต้น แต่ต่อมาแนวคิดเหล่านี้ก็ค่อยๆ มีพัฒนาการไปในแต่ละประเทศ เช่น คอมมิวนิสต์ที่เริ่มต้นในรัสเซียและยุโรป จะเน้นมวลชนที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพหรือผู้ใช้แรงงาน แต่ต่อมาก็พัฒนาไปสู่การเห็นอกเห็นใจชนชั้นที่ยากจน อย่างที่เรียกว่าชาวบ้านทั่วไป เพื่อต่อต้านคนร่ำคนรวยที่เรียกว่านายทุน กับคนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ที่เรียกว่าศักดินา หรือต่อมาจีนโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนก็พัฒนาต่อยอดไปถึงชาวไร่ชาวนาและคนในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และสามารถก่อกระแสให้คนเหล่านี้ลุกฮือขึ้นโค่นล้มเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชานิยมได้รับความนิยมนำมาใช้ในประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ ที่เป็นตำนานต้นฉบับเลยก็คือในประเทศอาร์เจนติน่า โดยประธานาธิบดีฮวน เปรอง รวมถึงรัฐบาลเผด็จการของหลายๆ ประเทศที่รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ก็ยังเน้นไปในรูปแบบของ “การโปรยหว่าน” คือแจกเงินทองข้าวของให้แก่ประชาชนหมู่มาก แต่เมื่อประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น การกระทำดังกล่าวจะต้องถูกตรวจสอบและควบคุมในระบบรัฐสภา ก็ทำให้นโยบายประชานิยมนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไป อย่างเช่น เปลี่ยนไปใช้การทุ่มเทงบประมาณไปในเรื่องของการให้สวัสดิการของรัฐ หรือการทำนโยบาย “เม็กกะโปรเจ็ค” ที่ใช้เงินไปในสิ่งที่อ้างว่า “เพื่อประโยชน์ของประชาชน” แต่เมื่อถูกตรวจสอบพบว่ารัฐบาลมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน นโยบายแบบนี้ก็ “แปรรูป” ไป (ตรงนี้แหละที่น่าจะได้ตัวอย่างมาจากประเทศไทย) ผู้นำเสนอบรรยายว่าในรูปแบบประชานิยมสมัยใหม่ ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในประเทศด้อยพัฒนาอีกแล้ว เพราะเริ่มมีการใช้นโยบายประชานิยมไปทั่วโลกแม้แต่ในประเทศที่ถือว่าเป็นแม่แบบประชาธิปไตย อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในยุโรป เป็นต้นว่า ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกาก็ได้นำแนวคิดการประกันสังคมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมาใช้ หรือในสมัยของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ก็มีความคิดที่จะเอาใจกลุ่มคนยากจนและคนว่างงาน ด้วยการจัดสวัสดิการบางอย่างให้เป็น “พิเศษ” (อันเป็นที่มาของหัวข้อใหญ่ในการปะชุม APSA ปีนี้ที่ชื่อว่า “ประชานิยมกับสิทธิพิเศษ” เพราะแต่เดิมคนเหล่านี้คือคนที่ “ด้อยสิทธิ์” คือไม่ค่อยได้รับความเหลียวแลจากผู้มีอำนาจ แต่เมื่อคนเหล่านี้ถูกนับว่าเป็น “ฐานเสียงสำคัญ” และ “คะแนนเสียงที่ต้องได้” ทำให้นักการเมืองหันมาเอาใจผู้คนในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้กันอย่างออกหน้าออกตา อย่างที่เรียกว่า “เป็นผู้มีสิทธิพิเศษ” นั่นเอง) ปัจจุบันนี้แนวคิดการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่ประชาชนได้กระจายออกไปในกลุ่มที่หลากหลาย เช่น ชนกลุ่มน้อย กลุ่มเพศสภาพต่างๆ และกลุ่มสนใจเฉพาะเรื่อง (กลุ่มที่สนใจเรื่องสุขภาวะ โลกร้อน สิ่งแวดล้อม อาหาร พลังงาน ฯลฯ) แม้กระทั่งมีการแยกแยะเอาใจคนตามช่วงวัย เช่น เด็ก คนหนุ่มสาว คนชรา หรือแยกแยะเป็นช่วงชั้นอายุที่เรียกว่า “เจนเนเรชั่น” ต่างๆ เป็นต้น รัฐศาสตร์สมัยใหม่จึงต้องพัฒนาไปตามคนในแต่ละช่วงวัยนี้ด้วย