เสือตัวที่ 6
กระบวนการสร้างความแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับคนปลายด้ามขวาน ยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการในการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เช่น การสร้างความแนบเนียน โดยไม่ทิ้งร่องรอยของกระบวนการบ่มเพาะสร้างแนวคิดเกลียดชังต่อรัฐ ให้เห็นง่ายๆ อย่างในอดีตที่ผ่านมา ทั้งในห้องเรียน โต๊ะเรียน หรือตามฝาผนังเรือนพักที่อยู่ประจำ ตลอดจนกระดาษหรือแผ่นป้าย เป็นต้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้รูปแบบการแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรูปแบบการปกปิดการอบรมบ่มเพาะอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากที่กระทำในสถานศึกษา ไปเป็นการกระทำนอกสถานศึกษา ในรูปแบบของการจัดกิจกรรมเข้าค่ายนอกสถานที่ในห้วงต่างๆ เช่นห้วงการปิดภาคเรียน รวมทั้งการใช้สถานที่อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านความมั่นคง ในการใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดรุนแรง สร้างความเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้า เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐ และสานต่อแนวร่วมขบวนการให้ดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน
โดยกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบ ให้เกิดการสร้างความเกลียดชังรัฐที่ผ่านมานั้น มีนักวิชาการฝ่ายทหาร ได้ศึกษาเก็บข้อมูลเชิงลึกมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านงานวิจัยที่หลากหลายแง่มุม จึงสามารถเป็นข้อค้นพบที่เชื่อมโยง ร้อยเรียงให้เห็นภาพของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ชัดเจนในเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้น โดยในแง่มุมของกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดในการร่วมมือกับขบวนการร้ายแห่งนี้ เพื่อร่วมต่อสู้กับรัฐ อย่างเป็นระบบนั้น พบว่า มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยสามารถนำออกมาตีแผ่ในตอนที่ 1 ดังนี้ 1) เสาะหาบุคคลเป้าหมาย ในประเด็นนี้ กลุ่มนักสร้างสมาชิกแนวร่วมใหม่ของขบวนการ จะสังเกตพฤติกรรมเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ประจำตามหอพักของสถานศึกษา เพื่อดูว่าเด็กคนไหนมีแนวโน้มที่มีลักษณะ มีวินัย เชื่อฟังครู เคร่งครัดในหลักศสานาเป็นลำดับแรก แล้วจึงหาโอกาสในการเข้าไปสอบทานความคิด ความเชื่อบุคคลนั้นๆ ว่า มีแนวโน้มที่จะร่วมแนวคิดกับขบวนการหรือไม่อย่างไรต่อไป และแสวงประโยชน์จากธรรมชาติในความคึกคะนองในช่วงที่เป็นวัยรุ่น
2) ใช้ผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือ ท่าทางมีความรู้ บุคคลที่เป็นปัจจัยนำเข้าสำคัญในกระบวนการบ่มเพาะก็คือ บุคคลที่จะเป็นผู้สร้างแนวร่วมใหม่ ที่จะต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ น่าเคารพศรัทธาในสายตาของเด็กและเยาวชน เพื่อให้เป็นต้นทุนในการพูดคุยโน้มน้าวแนวคิด ความเชื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เพราะด้วยวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ที่มีหลักการทางศาสนาอิสลามเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้บุคคลที่น่าเคารพเชื่อถือ และมีความรู้มากกว่า ที่สามารถเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในแง่มุมสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในพื้นที่กับคนในส่วนอื่นได้ละเอียดมากขึ้น จะได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นจากเด็กและเยาวชนในสถานศึกษามากเป็นพิเศษ 3) การชักชวนของคนใกล้ชิดในสถานศึกษา การชักชวนจากคนใกล้ชิดกับเป้าหมายนั้น เพื่อให้เป้าหมายของการบ่มเพาะแนวคิดฯ ไม่รู้สึกว่ากำลังถูกปลุกระดมแนวคิดรุนแรง ในทางตรงข้าม เพื่อให้เกิดความแนบเนียนต่อเป้าหมายของการชักชวนเข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยจะเริ่มจากการเห็นร่วมกันก่อนว่า จะต้องต่อสู้ร่วมกันเพื่อเป้าหมายของขบวนการฯ เพื่อนสนิท หรือรุ่นพี่ที่ไว้วางใจ หรือคนรู้จัก อาจเป็นคนสนิทที่อยู่ในสถานศึกษา หรือ ในมัสยิด เพื่อตอกย้ำจากคนอื่นที่สามารถเล่าเรื่องได้ละเอียดมากขึ้น รวมทั้งความใกล้ชิดเพื่อสร้างความไว้วางใจ
4) การพูดคุยธรรมดาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีเชื่อมโยงศาสนา การพูดคุยจะเป็นลักษณะที่ไม่ให้บุคคลเป้าหมาย รู้ตัวว่า กำลังถูกชักจูงให้ร่วมขบวนการฯ เป็นการพูดคุยแบบสบายๆ เพื่อหยั่งท่าทีของบุคคลเป้าหมายว่า จะมีปฏิกิริยาตอบรับหรือปฏิเสธเรื่องราวเหล่านั้นมากน้อยแค่ๆไหน ที่สำคัญการพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีนี้ จะสอดแทรกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ปะปนไปกับเรื่องราว ประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีอันยิ่งใหญ่และเป็นอิสระจนถูกสยามยึดครอง โดยตอกย้ำชี้นำให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อพระเจ้า เพื่อศาสนา หรือการชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชของคนมุสลิมนั้น ถือเป็นหน้าที่หรือข้อบังคับทางศาสนา (วายิบ) ที่คนมุสลิมทุกคนจะต้องทำ หากใครปฏิเสธจะเป็นบาป หรือการฆ่าคนนอกศาสนาไม่เป็นบาปแต่ในทางตรงข้ามจะได้บุญแทน เมื่อตายไปวิญญาณจะบริสุทธิ์ บาปที่เคยมีติดตัวก็จะหมดไปและจะได้ไปสวรรค์พบพระเจ้า เน้นให้เห็นว่าคนมลายูปัตตานีถูกทรมาน ถูกกวาดต้อนไปใช้แรงงานทาสในสยาม เพื่อให้เห็นถึงความโหดร้ายของรัฐสยามต่างๆ นาๆ สร้างความแค้น ชิงชังต่อรัฐไทย เช่น เล่าเรื่องคนสยามจับชาวมลายูปัตตานีเจาะเอ็นร้อยหวาย กวาดต้อนเดินทางไปกรุงเทพ ฯ เพื่อขุดคลองแสนแสบ (เรื่องเล่าดังกล่าวผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดให้ตรงกัน) ดังคำกล่าวอ้างที่ว่า “...พวกเราจึงต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อเอาดินแดนปาตานีกลับคืนมา และแก้แค้นให้ชาวมุสลิม เราต้องร่วมกันต่อสู้ หากเราไม่สู้แล้วใครจะสู้ หรือเราเป็นทาสเขามา 200 ปีแล้ว...” เป็นต้น โดยมีจุดเริ่มต้นของการเข้าขบวนการฯ เกิดจากอุดมการณ์ โดยเฉพาะการปลดปล่อยเพื่อให้ได้เอกราช
กระบวนการบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกแตกต่างของคนในพื้นที่กับคนไทยส่วนใหญ่ โดยการสร้างความเห็นต่างต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวทั้งวิจารณญาณ และอายุที่ยังน้อย ตลอดจนบรรยากาศในพื้นที่ ที่มีกลิ่นอายของความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกแกนนำขบวนการสร้างขึ้น ทำให้เอื้ออำนวยในการชักนำความคิดต่อกลุ่มเป้าหมายให้หลงเชื่อได้ไม่ยาก โดยอาศัยอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะทางศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นลักษณะเฉพาะถิ่น อันจะนำไปสู่การถูกปลุกเร้าให้เห็นถึงความแตกต่างจากรัฐไทยและต้องการการปกครองแบบรัฐอิสลามบริสุทธิ์ รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่ชี้นำให้คิด และชี้เป้าให้ทำนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ภายใต้ความเชื่อต่างๆ ดังกล่าวที่ถูกปลูกฝัง หรือสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐ สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐอย่างทรงพลังและต่อเนื่อง ซึ่งหากรัฐ ไม่ตระหนักในกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดที่แปลกแยกจากรัฐทั้งในสถานศึกษา และนอกสถานศึกษาแล้ว ไฟใต้ ก็ยังคงคุกรุ่น รอลุกโชติช่วงเป็นระยะๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด