ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ศึกการเมืองในสภาฯ เข้าสู่ความสงบ พักรบชั่วคราว แต่นอกสภาฯยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยปมร้อนเกี่ยวกับคุณสมบัติของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหรกรณ์ ที่พรรคฝ่ายค้านเดินหน้าตรวจสอบอย่างเข้มข้น
ในขณะที่รัฐบาลเอง นอกจากเพิ่งผ่านศึกอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติแล้ว ยังต้องรับมือกับปัญหาภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดภาคอีสานยังไม่แห้ง ขณะที่ทางภาคใต้ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ค่า PM2.5 กลับมาคุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชนทางภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และพัทลุง
โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานสภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูลว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าอยู่ระหว่าง 7–70 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร) มีเกินมาตรฐาน 2 สถานี ได้แก่ ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบค่าสูง 70 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร และ อ.เมือง จ.ยะลา พบค่าสูง 58 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร เกินค่ามาตรฐาน
และเมื่อพิจารณาข้อมูลรายชั่วโมงของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภาคใต้ พบว่าฝุ่นละอองเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 12.00 น.ของวันที่ 18 กันยายน โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด 155 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร จึงทำให้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง และหากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์ขณะเดียวกัน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า สถานการณ์จุดความร้อนในภูมิภาคอาเซียนตอนล่างมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากภาพถ่ายดาวเทียม NOAA-20 ตั้งแต่วันที่ 15-17 กันยายน พบจุดความร้อนในพื้นที่สุมาตราและกาลิมันตัน จาก 579 จุด ลดลงเหลืออยู่ 288 จุด แต่ในวันที่ 18 กันยายน พบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นที่ 589 จุด โดยมีลมพัดหวนขึ้นมา ทำให้ประเทศสมาลาเซีย สิงคโปร์ และไทย ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยไม่พบจุดความร้อนการแจ้งเตือนและรับมือสถานการณ์ โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ประกาศยกระดับการแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันในภูมิภาคอาเซียนตอนล่างให้อยู่ในระดับที่ 3 (จุดความร้อนเกิน 250 จุด ต่อเนื่อง 2 วัน ขึ้นไป และมีกลุ่มควันหนาแน่น สภาพอากาศแห้งแล้ง ประกอบกับมีลมซึ่งสามารถพัดกลุ่มควันเข้าประเทศสมาชิก) โดยขอความร่วมมือประเทศสมาชิกรายงานการแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศ เพื่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนจะสรุปผลในภาพรวมของภูมิภาคอาเซียนเป็นประจำทุกวัน
ทั้งนี้ ได้แจ้งเตือนปัญหาดังกล่าวให้ประชาชน 7 จังหวัดเตรียมรับมือ จัดหาพื้นที่เซฟตี้โซน หรือพื้นที่ปลอดควันไว้ให้ประชาชนด้วย พร้อมทั้งติดตามการแจ้งเตือนจากกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดสำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
เมื่อภาครัฐ มีการตื่นตัวและตระหนักกับปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ปัญหาหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย จะป้องกันได้ยาก แต่ก็สามารถบรรเทาผลกระทบให้น้อยลง กระนั้น ไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤติ ภัยพิบัติ หรืออุบัติภัยอะไร หากภาครัฐเข้มแข็งประชาชนก็อุ่นใจ