สมบัติ ภู่กาญจน์ กาลครั้งหนึ่ง ในสมัยเมื่อราวๆช่วงปีพุทธทศวรรษที่ 2520 ประเทศไทยเคยมีปัญหาเรื่องพุทธศาสนิกชนสองกลุ่มมีความเห็นไม่ตรงกัน จนดูเสมือนว่าจะขัดแย้งกัน สาเหตุของปัญหานี้เกิดจากความคิดความเลื่อมใสในตัวบุคคลหรือในหลักการบางอย่าง มีจุดยืนกันอยู่คนละจุด และต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าจุดยืนของตนนั้นถูกต้อง และดี ในหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ที่ผมเป็นอยู่ในช่วงนั้น วันหนึ่งในการสนทนากับอาจารย์คึกฤทธิ์ ผมตั้งปัญหาถามอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “การปกครองสงฆ์ทุกวันนี้ เราควรทำอย่างไรกันดีครับ จะให้สงฆ์ปกครองกันเองเหมือนที่บางกลุ่มเขาเรียกร้องกันอยู่ หรือว่าจะปรับปรุงอะไรให้มันดีขึ้น หรือว่าจะต้องคงเดิมต่อไป อาจารย์มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?” อาจารย์คึกฤทธิ์ตอบผมว่า “จะปรับหรือจะเปลี่ยนอะไรก็ตาม เราต้องมีความรู้ที่แท้จริงหรือชัดเจนเสียก่อนว่า ของเดิมนั้นเขาเป็นมากันอย่างไร? มันดีหรือไม่ดีอย่างไร? ทุกวันนี้ เรารู้เรื่องนี้แน่ชัดกันหรือเปล่า?” จากนั้นอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ตอบปัญหาที่ผมถามอย่างคร่าวๆ ก่อนที่จะปิดท้ายว่า “คุณถามเรื่องนี้ขึ้นมาก็ดีแล้ว ผมจะเอารายละเอียดที่เราคุยกันนี้ไปเขียนต่อในคอลัมน์ของผม จะเล่าความเป็นมาให้คนอ่านได้ทราบ เผื่อว่าคนที่มีเหตุผลหรือมีปัญญาจริงๆ อ่านแล้วจะคิดต่อไปได้ว่า ใครควรจะทำอะไรแค่ไหนเพียงใด?” ด้วยเหตุนี้เอง ในคอลัมน์ที่มีชื่อว่า “ข้างสังเวียน” อันเป็นข้อเขียนโดย “คึกฤทธิ์ ปราโมช”ฉบับวันรุ่งขึ้น จึงมีเรื่องราวดังต่อไปนี้ ปรากฏขึ้นมา “ในระยะนี้ มีเสียงพูดกันหนาหูถึงเรื่องการปกครองพระ ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะมีข่าวที่ทำให้เสียแก่พระ หรือแก่สงฆ์อยู่บ่อยๆ จะพูดซ้ำในรายละเอียดอีกก็อายใจ คนที่เคารพในศาสนา ได้ยินข่าวเหล่านี้แล้วก็ไม่สบายใจ และโดยทั่วไปก็ไม่มีใครรู้แน่ว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ในเรื่องการกวดขันให้พระสงฆ์เคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัย หนังสือพิมพ์บางฉบับ ดูเหมือนจะซัดไปที่กรมศาสนา ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว กรมฯนั้นไม่มีสิทธิอำนาจที่จะปกครองพระแต่อย่างไรเลย” นี่เป็นความเห็น ที่แสดงต่อสาธารณชนโดยผ่านงานเขียนทางหน้าหนังสือพิมพ์ ของคนไทยในอดีตเมื่อสี่สิบปีมาแล้ว ที่ผมอยากนำมาเสนออีกครั้งในวันนี้ เพื่อให้เราได้อ่าน-แล้วคิด-และพิจารณากันอีกครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเรื่อง ว่า อดีตกับปัจจุบันนั้นมีอะไรบ้างที่ต่างกันหรือไม่ต่างกัน ความต่างที่สำคัญประการแรก คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ที่ในยุคอดีต การสื่อสาร(โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสารมวลชน) จะมีแต่หนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์เท่านั้น ที่เป็นหลักใหญ่ ส่วนในปัจจุบันนี้ เรามีคอมพิวเตอร์มีอินเตอร์เนตและการสื่อสารใหม่ๆเพิ่มขึ้น ที่ทำให้มนุษย์สามารถจะสื่อสารกันได้มากขึ้นและตลอดเวลา ความก้าวหน้าดังกล่าวนี้ น่าจะทำให้พฤติกรรมหรือความคิดบางอย่างของมนุษย์ เปลี่ยนแปลงไปด้วย อันเป็นห่วงโซ่แห่งความน่าวิตก ซึ่งเกี่ยวพันกันอยู่ ที่มนุษย์พึงตระหนัก และน่าจะ เฝ้าระมัดระวังกันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างกันเลย คือปัญหาสารพันของมนุษย์ ซึ่งรวมทั้งปัญหาความเห็นที่แตกต่าง อันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ แม้กระทั่งในหมู่มนุษย์ที่นับถือศาสนาเดียวกัน อาจารย์คึกฤทธิ์ใช้ความสามารถในการเขียน ด้วยการเริ่มต้นข้อความเพียงสามย่อหน้า ก็ทำให้คนทุกฝ่ายอยากติดตามต่อ ว่าผู้เขียนจะมาไม้ไหนและจะพูดถึงอะไรต่อไป? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการใช้คำพูดบางคำ(ที่ผมเน้นเป็นตัวเอนไว้ในการตีพิมพ์ครั้งนี้)ก็เป็นสิ่งที่ตรงกับความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ในขณะนั้น ที่ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และค่อนข้างไม่แน่ใจว่าอะไรคืออะไรในเหตุที่เกิดขึ้นมา เมื่อเรียกความสนใจได้เช่นนี้แล้ว อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ดำเนินความเห็นของตนต่อไป ว่า “ ประเทศไทย เป็นประเทศที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่เป็นเวลานานนับเป็นพันปี ด้วยเหตุนี้ จึงมีภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก เมื่อมีพระจำนวนมาก ความจำเป็นที่จะต้องตั้งระบบการปกครองพระก็เกิดขึ้นมา และหน้าที่ในการปกครองพระนั้น ก็จะต้องตกอยู่กับพระเจ้าแผ่นดิน เพราะการปกครองนั้นต้องใช้อำนาจทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปกครองรูปแบบใด ถึงแม้ว่า ในพระพุทธศาสนานั้น ตามพระธรรมวินัยจะบอกว่าสงฆ์มีหน้าที่ปกครองกันเอง แต่อำนาจในการปกครองของสงฆ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคแรกเริ่มแห่งพุทธศาสนา)ก็ตั้งอยู่บนหลักการแห่งคำสอนเรื่องหิริ และโอตตัปปะ คือความละอายต่อบาป และความกลัวต่อบาป เท่านั้นเป็นสำคัญ ดังตัวอย่างเช่น สมมุติว่าสงฆ์มีสังฆาณัติให้ภิกษุรูปหนึ่งพ้นจากสมณเพศ เพราะต้องอาบัติปาราชิก แต่ภิกษุนั้นไม่ยอมสึก แล้วยังกระทำตนเหมือนกับอยู่ในสมณเพศต่อไป โดยนุ่งห่มผ้ากาสายะและออกรับอาหารบิณฑบาต อีกทั้งยังมีคนบางกลุ่มศรัทธาเลื่อมใสในภิกษุนั้นอยู่ สงฆ์ก็จะไม่มีมาตรการอย่างใดเลยที่จะบังคับให้ผู้ไร้อายผู้นี้เลิกปฏิบัติเช่นนั้นได้ แม้ว่ามาตรการอื่น เช่นสงฆ์จะไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรมด้วย หรือลงพรหมทัณฑ์ คือไม่ติดต่อพูดจากับพระหรือคน ผู้นั้น และถ้าคนๆนั้นไร้ความอาย หรือไม่กลัวบาปเสียอย่างหนึ่งแล้ว สงฆ์ก็ไม่สามารถจะจัดการกับปัญหานี้ได้ด้วยประการใดๆ ด้วยเหตุนี้ สงฆ์จึงต้องอาศัยอำนาจของอาณาจักร หรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพื่อจัดการกับคนประเภทนั้น เช่นจับตัวสึกและลงอาญา เพราะคนที่ขาดหิริและโอตตัปปะนั้น ถึงจะเก่งกล้าอย่างไร ก็ต้องกลัวอาญาแผ่นดินอยู่ดี ในเมืองไทยสมัยก่อน พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุดในสังคม จึงต้องเป็นประมุขในการปกครองสงฆ์ด้วย โดยมีพระราชอำนาจในการนี้โดยสมบูรณ์ และเพื่อแยกสงฆ์ไว้ต่างหากจากอาณาประชาราษฎร จึงได้มีการตั้งพระภิกษุทรงสมณศักดิ์ขึ้นปกครองสงฆ์ โดยมีพระราชอำนาจสนับสนุน สำนวนไทยโบราณที่เรียกว่า ‘ยศช้างขุนนางพระ’ จึงได้เกิดขึ้นมา และเกิดด้วยความจำเป็นเพื่อรักษาพระศาสนาเอาไว้ มิใช่เรื่องเหลวใหลแต่ประการใดๆ” ข้อเขียนนี้ เพิ่งจะเริ่มต้น และเดินเรื่องมายังไม่จบตอนแรก ที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอความรู้ในอดีตให้สาธารณชนคนไทยได้รับทราบ เพราะเรื่องเก่าเหล่านี้คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้แจ้งชัดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคหลัง ยิ่งไม่มีทางรับรู้มากขึ้นเลย ถ้าไม่ใช่เพราะสนใจเองด้วยเหตุผลหนึ่งเหตุผลใด เรายังมีเรื่องราวในอดีตที่น่ารู้อีกมากมายครับ ที่น่าจะแสวงหา ‘สิ่งดี’ เอาไว้เป็นตัวช่วยในการทำวันนี้ให้ดีขึ้น ความรู้ที่แท้จริง(ซึ่งใกล้กับคำว่าวิชชาในศาสนาพุทธ) จะเป็นทั้งเครื่องมือและภูมิคุ้มกัน - ในการตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องของมนุษย์ - ผู้สนใจขอเชิญติดตามกันต่อไปในตอนหน้า