“ไปดูรัฐธรรมนูญให้ดีแล้วกัน จะเอาผมแบบนี้หรือจะเอาผมแบบก่อน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดใจกับบรรดาข้าราชการทุกระดับที่เข้าร่วมสัมมนาบุคลากรภาครัฐ ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ชาติ ภาคปฏิบัติ:ร่วมขยับขับเคลื่อนภาครัฐเพื่อประชาชน” นำไปสู่การตีความทางการเมือง ว่า “ผมแบบก่อน” นั้นคือแบบไหน? แบบก่อน คือก่อนการเลือกตั้งใช่หรือไม่? อาจตีความได้ว่า แบบก่อนหมายถึงการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ หรือแบบก่อนหน้านั้นในฐานะผู้บัญชาการทหารบก คำว่า “ผมแบบก่อน” ถูกตีความว่า หมายถึงการทำรัฐประหาร ซึ่งหากทำจริงก็เท่ากับเป็นการ “ปฏิวัติตัวเอง” กระนั้น หากพิจารณาบริบทการเมือง พิเคราะห์อย่างสังเคราะห์แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำรัฐประหารในเวลานี้ คาดว่าพล.อ.ประยุทธ์ คงต้องการส่ง “สัญญาณเตือน” มากกว่า “นายกฯ เปรียบเหมือนผู้อำนวยการเพลงหรือไวยากรณ์ คณะรัฐมนตรี และข้าราชการ เป็นนักดนตรี แต่ข้าราชการย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี ที่แล้วมาอะไรไม่ดีคนชอบว่านายกฯ รัฐมนตรีห่วยโทษนายกฯ โดนทั้งปี ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจไม่อย่างนั้นสิ่งที่ทำจะล้มเหลวหมด ถ้าเล่นดนตรีกันคนละเพลงทุกอย่างก็ไปกันไม่ได้ ต่อให้ผู้อำนวยการเพลงเป็นใครก็ตาม จะเป็นคนเก่าคนใหม่ก็ยังเหมือนเดิม” ส่วนจะเตือนใครบ้างนั้น กลุ่มแรกเลย ก็คือข้าราชการที่อยู่ในห้องประชุมแห่งนั้น ด้วยมีข้อความที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึงการช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน กรณีการช่วยเหลือและเยียวยาจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น กลุ่มที่สองก็คือคณะรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อีกกลุ่มก็คือพรรคการเมืองต่างๆ อาจมาจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์การลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี มีภาพการพบปะกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปรากฏออกมา แทนที่จะเป็นจ.อุบลราชธานี ที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยหรือไม่ อาจมาจากการเปิดโปงกรณีวุฒิการศึกษาของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี ที่มีการเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบ ในฐานะผู้เสนอชื่อบุคคลให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ แต่กระนั้น การเปิดใจครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรียังเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหยิบยกประเด็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นเงื่อนไขอีกด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณเตือนเช่นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ในห้วงที่เกิดความวุ่นวายเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ในพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยหลุดประโยคที่ต้องตีความกันมาแล้ว ว่าจะกลับไปแก้ปัญหาแบบเดิมๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเห็นว่า การส่งสัญญาณเช่นนี้อาจไม่ได้สร้างความหวั่นไหวในทางการเมือง ให้กับ พรรคการเมือง โดยเฉพาะในซีกฝ่ายค้านอีกต่อไป ในทางกลับกันควรเร่งกำจัด “จุดอ่อน” ภายในกลไกการบริหารราชการของรัฐบาลเอง และส่งสัญญาณไปยังประชาชนให้เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ