ทวี สุรฤทธิกุล พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยไทย ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยไทยคือชนชั้นปกครองของไทยนี่เอง ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ในพระบรมราชาธิบายเรื่องความสามัคคี(ที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาเป็นลำดับนี้) ซึ่งได้ทรงตอกย้ำอีกด้วยว่าคนพวกนี้ ซึ่งก็คือพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นแบบฝรั่งนี่แหละคือ “อุปสรรค” หรือปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเอง เพราะคนพวกนี้แหละที่จะ “ชักนำราษฎร” ให้คิดให้เห็นเป็นไปต่างๆ จนถึงขั้นที่อาจจะแตกแยกกันได้ กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้เสนอแนะเมื่อ พ.ศ. 2427 ให้นำระบบรัฐสภาหรือ “ปาลิเมนต์” มาใช้ และใน พ.ศ. 2446 ที่ทรงได้พระราชนิพนท์พระบรมราชาธิบายฯนี้ รัชกาลที่ 5 ก็ได้ทรงแสดงพระปรีชาถึงความรอบรู้ในระบบการเมืองของฝรั่ง เป็นพระราชาธิบายว่า “เพราะฉะนั้นจะป่วยกล่าวไปใยถึงความคิดที่จะตั้งปาลิแมนต์ขึ้นในหมู่คน ซึ่งไม่มีความรู้พอที่จะคิดราชการ และไม่เป็นความต้องการของคนทั้งปวง นอกจากที่อยากจะเอาอย่างประเทศยุโรปเพียงสี่ห้าคนเท่านั้น หรือจะมีโปลิติกัลป์ปาตีพวกคิดราชการเป็นพวกเป็นเหล่า ซึ่งจะมีผู้ที่จะอยากเป็นไม่เกินยี่สิบสามสิบคน อันจะแบ่งออกเป็นสองพวก ก็คงอยู่ในสิบสี่สิบห้าคนลงมา จะต้องเป็นทั้งผู้คิด ผู้ทำตลอดพระราชอาณาเขตต์ ที่ไหนจะทำการตลอดไปได้ ถ้าจะจัดตั้งปาลิแมนต์ หรือให้เกิดมีโปลิติกัลป์ปาตีขึ้นในเวลาซึ่งบ้านเมืองยังไม่ต้องการดังนี้ ก็จะมีแต่ข้อทุ่มเถียงกันจนการอันใดไม่สำเร็จไปได้ เป็นเครื่องถ่วงให้บ้านเมืองมีความเจริญช้านั้นอย่างเดียว เพราะความที่จริงแท้นั้น เมืองไทยกับเมืองยุโรปกลับกันตรงกันข้าม ฝ่ายประเทศยุโรปนั้น ราษฏรมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงร่ำไป ฝ่ายผู้ปกครองเป็นที่กีดขวางต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น จนมีเหตุการใหญ่ๆโตๆเนืองๆแต่โบราณมาส่วนเมืองราษฏรไม่มีความปรารถนาอยากเปลี่ยนแปลงอันใดนอกจากข้อความอันใดซึ่งมากระทบไม่เป็นที่ชอบใจตัวเข้าบางคนบางหมู่ในขณะหนึ่งคราวหนึ่งเท่านั้น ถ้าจัดการเปลี่ยนแปลงอันใดแล้ว ก็มักจะเห็นเป็นการเดือดร้อนทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สุดจนจะต้องรื้อกะท่อมที่กว้างยางเพียง 6 ศอก 4 ศอกราคา 7 บาท 8 บาท เพื่อจะทำถนนหรือคลอง หรือสร้างตึก ถึงโดยว่าจะได้เงินราคาสมควรแล้ว ยังเป็นการเดือดร้อนบ่นกันเซ็งแซ่ ค่าที่ต้องรื้อปลูกใหม่ว่าเป็นความเดือดร้อน เพราะไม่ชอบการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้ลำบาก การที่อยากเปลี่ยนแปลงนั้น กลับเป็นของผู้ปกครองบ้านเมืองอยากเปลี่ยนแปลง เพราะรู้ธรรมเนียมประเทศอื่นที่เห็นว่าดีกว่านั้น เมื่อการกลับตรงกันข้ามดังนี้ จะเอาความคิดแบบอย่างที่คิดราชการในประเทศยุโรปมาใช้ในเมืองไทยอย่างไรได้ ถ้าจะตั้งปาลิแมนต์ขึ้นในเมืองไทย เอาความคิดราษฏรเป็นประมาณในเวลานี้แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้จัดการอันใดได้สักสิ่งหนึ่งเป็นแน่แท้ทีเดียว คงจะต้องเถียงกันป่นปี้ไปเท่านั้น” ครับ! คนไทยไม่ค่อย “ยอม” กันง่ายๆ โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ อย่างไรก็ตามรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเห็นว่าการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นก็ไม่เหมือนกับของยุโรป ซึ่งการที่จะนำระบบปาลิเมนต์มาแทนที่นั้นก็จะมีความแตกต่างกันด้วยเช่นกัน “ข้าพเจ้าจึงเห็นควรว่า ในการปกครองกรุงสยามนี้ ถ้าจะจัดการอาศัยเจ้าแผ่นดินเป็นหลัก ให้เป็นไปตามความนิยมอย่างเก่าจะเป็นการง่ายดีกว่าที่จะจัดการอย่างอื่น เพราะเป็นของมีพื้นเพมาแล้ว แต่เมื่อข้าพเจ้ากล่าวดังนี้ ผู้ซึ่งอยู่ในความคิดที่กลับตรงกันข้ามทั้งสองพวก หรือจะเป็นพวกที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโดยแรงที่สุดพวกเดียว จะเห็นว่าข้าพเจ้ากล่าวดังนี้เพื่อจะหาอำนาจใส่ตัว เมื่อตกลงยินยอมตามที่ว่านี้แล้ว การเจริญทั้งปวงก็จะไม่สำเร็จไปได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ปิดสกัดกั้นอยู่ได้ ก็จะไม่ปล่อยให้การทั้งปวงเดินไป แต่เป็นความจริงนั้น ถ้าจะคิดดังนั้นก็เป็นความคิดที่เพลินไป ตามที่ได้อ่านในพงศาวดารต่างประเทศที่เจ้าแผ่นดินเป็นผู้ขัดขวางต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง แต่เมื่อว่าตามจริงแล้ว เมืองไทยไม่เหมือนกับประเทศยุโรปเลยด้วยเช่นที่กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าหวังใจว่าคงจะมีผู้เห็นจริงรับรองตามคำที่ข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไปบ้างเป็นแน่ ว่าตัวข้าพเจ้าเองเป็นคนแรกหรือเป็นคนหนึ่ง ซึ่งได้มีความอุสาหะคิดอ่านที่จะเปลี่ยนแปลงการบ้านเมืองให้มีความเจริญ ก่อนบ้านเมืองจะต้องการเร่งรัดเอาเสียอีก แต่ข้าพเจ้าต้องยอมรับเหมือนกันด้วยว่าข้าพเจ้าไม่เห็นชอบในความคิดที่แรงจัดทั้งสองอย่าง คือที่จะเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึงศาสนา ซึ่งยังไม่เห็นว่าเป็นการต้องการเป็นการจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดเลย และไม่เห็นด้วยในการซึ่งจะรักษาบ้านเมืองแต่ตามธรรมเนียมเดิมไม่ เปลี่ยนแปลงอันใดเลยนั้นด้วยเหมือนกัน ข้าพเจ้าชอบใจแต่เพียงทางกลาง และไม่มีความหวงแหนอันใดในการซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแต่เพียงทางกลางแต่ถ้าจะเปลี่ยนแปลงใหญ่โตมากไปจนกะทั่งถึงเปลี่ยนศาสนาเป็นต้นแล้ว ก็เป็นการจำเป็นจะต้องให้ยอมนับข้าพเจ้าคนหนึ่งว่าเป็นผู้ขัดขวางไม่ยอมที่จะละทิ้งไปได้ และการซึ่งว่าทั้งนี้ ข้าพเจ้าก็รู้อยู่ว่าเหมือนกับเพิ่มทวีโรคของตัวซึ่งได้มาเผาผลาญอยู่เป็นนิจ คือ โรคหินหักอยู่กับต้นโพ” “โรคหินหักอยู่กับต้นโพ” นี่แหละที่ทำให้ทรงอึดอัดพระราชหฤทัย แต่โรคนี้เป็นอย่างไรคงต้องขอไปอธิบายสัปดาห์หน้า