ทีมข่าวคิดลึก เมื่อสถานการณ์กลับกลายเป็น"บวก" เสริมส่งให้ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" สามารถปักหลักอยู่ในฐานะอำนาจได้ต่อไปจนกว่าจะมี "รัฐบาลใหม่" ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้อย่างชอบธรรม หลังจากที่ผลการออกเสียงประชามติ "ร่างรัฐธรรมนูญ" และ "คำถามพ่วง" สามารถฝ่าด่านมาได้โดยไม่ต้องเผชิญกับความวุ่นวาย ตลอดจนแรงต้านมากกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ แน่นอนว่าชัยชนะของ คสช. ในด่านประชามติรอบนี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ทั้ง"บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.สร้างความได้เปรียบ และยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ คสช. ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 เพื่อเปิดทางให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้ง เมื่อถึงเวลานั้น ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับฝ่ายการเมืองหรือไม่ เพราะนี่คือการให้โอกาส คสช. และรัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งในด้านบริหารและการรักษาความเรียบร้อยในประเทศ ความชัดเจนของผลการออกเสียงประชามติอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อคืนวันที่ 7 สิงหาคม จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ ประกาศยุติการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ภายหลังจากนับไปได้ถึงร้อยละ 94 โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ61.40 ไม่เห็นชอบร้อยละ 38.60 ส่งผลให้สองพรรคการเมืองใหญ่ต้องประกาศท่าที "ยอมรับ" การตัดสินใจของประชาชน ไม่ว่าจะหยิบยกเหตุผลใดขึ้นมาอ้างก็ตามที แต่ทว่าสิ่งที่ปรากฏคือ "ชัยชนะ"และความชอบธรรมที่อยู่ในมือ คสช. เวลานี้ได้กลายเป็น"อาวุธ" ที่ฝ่ายการเมืองย่อมหวั่นไหวอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นการทนอยู่ภายใต้การนำของ คสช. ยาวนานไปจนถึงปลายปี 2560 เป็นอย่างน้อย ! การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้าน ดูจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายดายนัก แม้จะรู้ดีว่าการทำประชามติรอบนี้ นานาประเทศ ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างจับตา เฝ้ามองทุกความเป็นไปการเมือง ในบ้านเรา นับตั้งแต่เริ่มวันรัฐประหาร จนมาถึงวันที่ คสช. เริ่มต้นนับหนึ่งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จนมาสู่วันที่ผ่านฉลุย แม้ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามจากกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษาในนามกลุ่มต่างๆ จนถึงวันลงประชามติ ด้วยการฉีกบัตรเพื่อแสดงจุดยืนก็ตาม ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าเมื่อผลประชามติออกมาว่า คสช. เป็นฝ่ายกุมชัยชนะเช่นนี้ โดยที่ไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายปั่นป่วนเกิดขึ้นนั้น เท่ากับเป็นการตัด "ชนวน" ที่จะทำให้ฝ่ายต่อต้านนำไปใช้ในการขยายผลได้อย่างสิ้นเชิง การออกมาประกาศท่าทีและทิศทางของ "จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งแกนนำนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในวันเดียวกันกับการลงประชามติ หลัง กกต. ประกาศผลการนับคะแนนทั่วประเทศที่ร้อยละ 94 ว่ายอมรับมติการตัดสินใจของประชาชนนั้น คือการสะท้อนความพ่ายแพ้ของฝ่ายตรงข้าม คสช. อย่างชัดเจน โดยเป็นความพ่ายแพ้ที่เขาเองรู้ดีมาตั้งแต่ต้นว่าเป็นเพราะสาเหตุใด เงื่อนไขอะไร ? แม้ไม่อาจยอมรับผลคะแนนของการลงประชามติในครั้งนี้ได้ก็ตาม แต่สิ่งที่ทั้งฝ่ายการเมือง และกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ประกาศตัวยืนอยู่ฝั่งตรง ข้ามคสช. ย่อมรู้ดีว่า นี่ย่อมไม่ใช่เวลาและโอกาสของพวกเขา !