ทวี สุรฤทธิกุล
วิชาการรัฐศาสตร์ยังพัฒนาไปได้อีกมาก
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปร่วมงานประชุมทางวิชาการประจำปีของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association : APSA Annual Meeting 2019) ประจำปี 2562 ที่จัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดเวลาการจัดการประชุม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม ถึงวันที่ 1 กันยายน มีกิจกรรมและหัวข้อการประชุมต่างๆ มากมาย โดยที่ผู้เขียนได้เลือกเข้าร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมเท่าที่เวลาจะมีให้ ซึ่งก็ได้รับประโยชน์พอสมควร สิ่งหนึ่งนั้นก็คือเกิดความมั่นใจว่า “รัฐศาสตร์ไม่มีวันตาย”
ธีมหรือหัวเรื่องหลักของการประชุมประจำปีนี้ก็คือ “Populism and Privilege” ที่อาจจะแปลเป็นไทยได้ว่า “ประชานิยมกับสิทธิพิเศษ” โดยได้แยกย่อยเป็นหัวข้อการประชุมกว่า 500 หัวข้อ ใช้ที่ประชุมหลายสิบห้องใน 3 โรงแรมใหญ่ เริ่มประชุมตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปจนถึง 5 โมงเย็นทุกวัน (ยกเว้นวันสุดท้ายที่มีครึ่งวัน) ซึ่งผู้เขียนได้เลือกเข้าประชุมวันละ 3 – 4 หัวข้อๆ หนึ่งใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง โดยเลือกกลุ่มหัวเรื่องที่ตนเองสนใจ เริ่มจากการเมืองอเมริกัน การเมืองในเอเซีย และพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย
ปีนี้หัวข้อเกี่ยวกับประธานาธิบดีทรัมป์กับการเมืองอเมริกันมีผู้นำเสนอในการประชุมกว่าสี่สิบหัวข้อ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจว่า “ทรัมป์คิดอะไรกับคนอเมริกัน และคนอเมริกันคิดอะไรกับทรัมป์” จากที่ผู้เขียนได้ไปฟังการประชุมเรื่องนี้อยู่ 2 หัวข้อ ทำให้พอทราบว่า คนอเมริกันไม่ค่อยมั่นใจในฐานะ “ความเป็นมหาอำนาจ” ของพวกเขาเป็นอย่างมาก คนอเมริกันกว่า 2 ใน 3 ยังคงเป็นพวกอนุรักษ์นิยม มีแนวคิดเอนเอียงไปทางขวาจัด คือ “บ้าความเป็นอเมริกัน” และ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” คือยังคิดว่าอเมริกันต้องเป็น “ที่พึ่งและผู้คุ้มครองของโลก” ความต้อยต่ำอับเฉาของประเทศสหรัฐอเมริกาคือ “หายนะของโลก” และคอมมิวนิสต์คืออันตรายที่น่ากลัวที่สุดของมนุษยชาติ (ผู้นำเสนอให้รายละเอียดว่า คนอเมริกันและทรัมป์ไม่ได้กลัวว่าจีนจะเจริญก้าวหน้ากว่าสหรัฐ แต่กลัวว่า “คอมมิวนิสต์จะครองโลก” ถ้าหากปล่อยให้จีนเป็นใหญ่เหนือสหรัฐ เหมือนอย่างที่สหรัฐเคยกลัวรัสเซียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเกิดสงครามเย็นอยู่กว่า 30 ปี กระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลาย สหรัฐจึงค่อยโล่งอกไประยะหนึ่ง) ดังนั้นทรัมป์เลยใช้ “ความกลัวของคนอเมริกัน” สร้างความนิยม จนได้รับชัยชนะ และหวังจะใช้แนวคิดนี้ในการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สองในปีหน้าต่อไปนั้นด้วย
ผู้เขียนเคยทำงานด้านข่าวกรอง เคยถูกอบรมมาว่า “ข่าวกรองด้านวิชาการ” ก็เป็นเรื่องที่ CIA หรือสำนักข่าวกรองสหรัฐให้คนสนใจเป็นอันดับต้นๆ ในสมัยก่อนรัฐบาลสหรัฐมักจะให้ทุนการศึกษาแก่นักวิชาการในประเทศต่างๆ เพื่อ “รายงาน” ให้สหรัฐทราบถึง “ความเป็นไป” ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศเหล่านั้น ผ่านงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาและนักวิชาการที่สหรัฐอเมริกาให้ทุน ซึ่งการประชุมประจำปีของ APSA นี้ก็คงเป็นที่สนใจของ CIA รวมถึงหน่วยข่าวกรองของชาติต่างๆ เช่นเดียวกัน เพราะผู้เขียน “ได้กลิ่น” นักการข่าวจากหลายๆ ชาติในหมู่ร่วมประชุมกว่า 2,000 คนที่มาร่วมประชุมในปีนี้ เดินปะปนอยู่ในคราบ “นักวิชการจำแลง” ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากพอสมควร เพราะมีการนำเสนอผลงานวิชาการหลายเรื่องที่เป็น “การเมืองเชิงลึก” (อย่างเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนไปร่วมประชุมก็คือ Cyber War ที่ผู้บรรยายบอกว่าเป็นสงครามที่ไม่ต้องสู้กันในสนามรบ แต่สมัยต่อไปประเทศต่างๆ จะรบกันด้วยใน “สนามปัญญา” ซึ่งถ้ามีโอกาศผู้เขียนจะนำรายละเอียดมานำเสนอให้ทราบ) คนอเมริกันจึงสนใจในเรื่องของการเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งการประชุมในแบบนี้ได้ “ดึงดูด” เอาข้อมูลมาให้คนอเมริกันอย่างมหาศาล ผ่านข้องานวิจัยของผู้เข้ารวมประชุมปีละ 5 – 6 ร้อยหัวข้อดังกล่าว (ลองนึกดูว่าการประชุมของ APSA มีมากว่า 30 ปี ข้อมูลเรื่องการเมืองจากภูมิภาคต่างๆ ของโลกคงอยู่ใน “คลังข้อมูล” ของรัฐบาลสหรัฐนับเป็นหมื่นๆ เรื่อง)
เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนสนใจมากที่สุดก็คือ “พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นหัวเรื่องใหญ่ในการปะชุมปีนี้ ในเรื่องที่ว่า “ประชาธิปไตยก็กำลังเดินไปในแนวประชานิยม” โดยผู้เขียนได้ไปฟังการประชุมในหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 6 หัวข้อ ซึ่งสามารถสังเคราะห์ความเข้าใจ มองเห็นถึงแนวโน้มของประชาธิปไตยในโลกนี้ได้ว่า ผู้ปกครองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก “ล้วนแต่” ใช้ประชานิยมในการปกครองผู้คน ไม่เว้นแต่ประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่อย่างจีน หรือประชาธิปไตยหัวเก่าอย่างสหรัฐอเมริกา
ประชานิยมนั้นเป็นแนวคิดทางการเมืองการปกครองที่มีมาช้านาน โดยมีการศึกษาอย่างเป็นระบบ คือมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม(ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18) โดยอยู่ในแนวคิดส่วนหนึ่งของลัทธิสังคมนิยมและ “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งได้ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของคนที่ประกอบอาชีพอย่างเดียวกัน เช่น กรรมกร และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา จากนั้นก็กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งเกิดเป็นพรรคการเมืองขึ้นในหลายๆ ประเทศ อย่างเช่นพรรคเลเบอร์หรือพรรคกรรมกรของอังกฤษก็เกิดขึ้นในยุคนั้น
แนวคิดประชานิยมแต่แรกเกิดขึ้นจากความต้องการของ “คนเล็กคนน้อย” อย่างที่กล่าวมา แต่ต่อมาผู้นำหลายคนได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับประชาชนของเขา ที่ดังๆ ก็เช่น ฮิตเลอร์ของเยอรมัน ที่ใช้ความรู้สึกชาตินิยมปลุกเร้าคนเยอรมันจนฮิตเลอร์ได้ขึ้นมาเป็นใหญ่ หรือฮวนเปรองของอาร์เจนติน่าในยุคหลังสงครามโกลครั้งที่ 2 ที่ต้องถึงว่าเป็นต้นตำรับ “ประชานิยมเทกระจาด” ที่ปรนเปรอคนอาร์เจนติน่าด้วยการแจกเงินทองสิ่งของ จนเป็นตำนานให้จดจำ(และเลียนแบบ)
ในการประชุมได้มีการพูดถึง “ประชานิยมของไทย” ด้วย โปรดติดตามอ่านในตอนหน้านะครับ