ทีมข่าวคิดลึก
"บิ๊กเจี๊ยบ" พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้ความมั่นใจต่อสังคมว่าวันนี้ในเรื่องของการสร้างความปรองดองนั้น ถือว่าสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ประเมินได้จากการที่มี "พรรคการเมือง" พาเหรดเข้าร่วมแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะเพื่อร่วมกันหาทางออกด้วยกันก็ถือว่านี่คือความสำเร็จไปแล้วครั้งทาง เพราะหากมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว แต่ไม่มีใครตอบสนอง ก็คงจะนับว่าล้มเหลว
การส่งสัญญาณในลักษณะดังกล่าวของ บิ๊กเจี๊ยบ ผบ.ทบ. ครั้งนี้แน่นอนว่าย่อมเป็นท่าทีที่ไม่ธรรมดา และไม่อาจมองได้เพียงช็อตเดียว เพราะผบ.ทบ.ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญ ย่อมมีทั้งภารกิจและ "บทบาท" ที่โดดเด่น เชื่อมต่อและสะท้อนในสิ่งที่ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.ได้วางเอาไว้
ในการประชุมเพื่อพูดคุยเรื่องการปรองดอง นับจากนี้ดูเหมือนว่าจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อ "ตัวละครหลัก" อย่างพรรคเพื่อไทย เริ่มขยับเตรียมตัวตบเท้าเข้าร่วมวงหารือในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ท่ามกลางทุกสายตาที่เพ่งมองเข้ามา พร้อมลุ้นด้วยใจจดจ่อว่าที่สุดแล้ว "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะเจ้าของพรรคตัวจริง
จะ "สั่งการ" กำหนดเงื่อนไข ให้ลูกพรรค "ถือสาร" เข้าเจรจาต่อรองกับ"กองทัพ" กลไกของ คสช.ในรอบนี้ในประเด็นใดบ้าง ?ทั้งตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพรรค ก็นับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อมีข่าวว่า พรรคอาจจะส่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ที่บัดนี้เจ้าตัวยังวุ่นวายอยู่กับการต่อสู้คดีจำนำข้าว รวมทั้งยังมีชื่อของ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" รองหัวหน้าพรรค ว่าอาจจะได้รับความไว้วางใจจากทักษิณ นัยว่าทั้ง "ยิ่งลักษณ์ สุดารัตน์"อาจจะสร้างความกดดันให้กับกองทัพ อยู่ไม่น้อย
นอกจากนี้ยังปรากฏว่า การประชุมร่วมกันของแกนนำพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังมีการส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการพูดถึงเรื่องของคดีความด้วย นี่เองจึงเป็นเหมือนชนวนร้อน ที่ก่อตัวขึ้นก่อนวันที่ 8 มี.ค.เพราะทั้ง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. รวมทั้ง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมน ตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยย้ำเอาไว้ชัดเจนว่า จะยังไม่มีการพูดถึงเรื่องคดีความ หรือปมนิรโทษกรรมเพราะห่วงว่าจะเกิดรายการ "วงแตก"เสียก่อน !
อย่างไรก็ดีประเด็นที่น่าสนใจและไม่อาจมองข้าม ในการเจรจาเพื่อสร้างความปรองดองในรอบนี้ จับสุ้มเสียงของ บิ๊กเจี๊ยบ ผบ.ทบ.ได้ว่า พร้อมที่จะให้มีการ "คุยนอกรอบ" เพื่อเคลียร์กันเสียก่อน เพราะจะทำให้ทุกอย่าง"ง่ายขึ้น"
นั่นหมายความว่า การเจรจานอกรอบที่ว่านั้น จะหมายถึง "ใคร" พูดคุยกับ "ใคร" และ "ประเด็น" ที่คุยกันนอกรอบนั้น พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่อยู่นอกวง จะรับรู้และ "เชื่อใจ" ได้หรือไม่ว่า ไม่มีนัยอื่น แอบแฝง ซ่อนเร้นขึ้นมา
วันนี้ แม้ในสายตาของ ผบ.ทบ. จะเห็นว่าการปรองดองได้ถือว่าสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ทว่าในสายตาของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง สารพัดเสื้อสีต่างๆ กลับยังมีคำถาม มีการตั้งข้อสังเกต และยากที่จะมั่นใจได้ว่าท้ายที่สุดแล้วการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริงและการพบกัน "ครึ่งทาง" นั้นจะเป็นครึ่งทางของ คสช. หรือฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะฝ่าย คสช. ที่ดูเหมือนว่ากำลังเปิดเกมรุก อย่างแยบยล !