แสงไทย เค้าภูไทย ผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช. 59 เป็นไปตามการคาดเดาของนักการเมืองสายกลาง คือคาดเดาว่า จะออกมาเป็น “รับ” เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้ง แม้จะมีจำนวนผู้มาหย่อนบัตรน้อยกว่าที่ตั้งเป้าหมายเกิน 70% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง ทว่าก็ถือว่าเป็นเสียงที่ชี้ขาด ตามโพลก่อนหน้านี้ หลายโพลระบุว่า ยังมีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้างไหนอยู่ถึง 35-40% ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นคนที่ไม่มาลงคะแนนเสียงก็ได้ ถ้าเปรียบเทียบกับ Brexit ประชามติอังกฤษออกจากประชาคมยุโรปที่โพลก่อนวันลงประชามติ 3 สัปดาห์ พบว่าส่วนใหญ่จะไป Vote No แต่เมื่อถึงวันลงประชามติจริงๆ กลับกลายเป็น Vote Yes มีการสำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิ์ไปลงคะแนน Brexit ในภายหลัง พบว่าผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม ต้องการให้ อังกฤษกลับไปอยู่ในสถานภาพเดิมเหมือนครั้งตนเองยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว โดดเด่นเป็นเอกเทศ ภาคภูมิใจไปกับความเป็นเจ้าอาณานิคม คนไทยที่ไปลงคะแนนเสียง “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากตรวจสอบดูบัญชีรายชื่อมาใช้สิทธิ จะพบว่าเป็นผู้ที่อายุสูงกว่า 40 ปีขึ้นไปมากกว่าคนอายุต่ำกว่า 40 ลงมา คนเหล่านี้ ผ่านการลงคะแนนเสียงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง และมีความสุข มีความภูมิใจในการทำหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา โดยเฉพาะในคำถามพ่วงท้ายที่คะแนน”รับ” ต่ำกว่าคะแนนด้านรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่นักเลือกตั้งระดับมืออาชีพเหล่านี้ เชื่อว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการลงประชามติแล้ว จะมีการเลือกตั้งภายในปีหน้า ซึ่งพวกเขารอวันนั้นอยู่ อีกกลุ่มที่ลงคะแนนเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญก็คือกลุ่มนักธุรกิจและภาคเอกชน คนกลุ่มนี้ไม่ให้ความสำคัญต่อเนื้อหาของร่างฯมากนัก เห็นว่ามีผลกระทบต่อคนในวงการการเมืองมากกว่าต่อพวกตน จุดประสงค์ของการรับร่างฯก็คือ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง พวกเขาเชื่อว่ายิ่งเลือกตั้งเร็ว เศรษฐกิจไทยจะยิ่งฟื้นตัวเร็ว ทั้งนี้เป็นผลมากจากการวิเคราะห์ทั้งของนักวิชาการ บรรดากูรูเศรษฐกิจและภาคเอกชนทั้งหลาย พบว่าหากมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งแน่นอนตามโรดแม็พ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ขณะนี้ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นพากันกอดเงินทุนเอาไว้แน่น ไม่ยอมเอาออกมาลงทุนในภาคการผลิตจริง (real sector) เพราะความไม่มั่นใจทางการเมือง ยิ่งตัวเลขติดลบในภาคการส่งออกเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องเท่าใด ยิ่งแสดงถึงการกีดกันทางการค้าด้วยเหตุผลว่าไทยปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารยังคงอยู่เท่านั้น ใครเอาเงินทุนออกมาขยายกิจการหรือลงทุนใหม่ ย่อมไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สู้กอดทุนเอาไว้และ เวทแอนด์ซี ไปจนกว่าการเมืองจะคลี่คลายไปในทางบวก ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นการก้าวพ้นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองมาได้ขั้นหนึ่ง ยิ่งระยะเวลาผ่านเข้าสู่บรรยากาศเลือกตั้งเมื่อใด ก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชนในการลงทุนเพิ่มขึ้นเมื่อนั้น เงินทุนที่สะสมอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีกว่า 990,000 ล้านบาท รัฐบาลพยายามสร้างแรงจูงใจต่างๆนานาเพื่อให้ทุนเหล่านี้ออกมาสู่ภาคการผลิตจริง ไม่ว่าจะกระตุ้นด้วยมาตรการภาษีที่ลดหย่อนอย่างหนัก หรือการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ แม้แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังช่วยกระตุ้นให้มีการนำเงินทุนออกมจากแบงก์ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยที่บางธนาคารถึงกับประกาศว่าจะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0% เพื่อผลักดันให้เอาเงินออมไปลงทุนหรือใช้จ่าย กระนั้นเอกชนก็ยังเฉย เพราะในสภาพที่มีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายนอกและภายในประเทศเช่นนี้ ลงทุนไปอาจจะสูญเปลา หรือแม้แต่กิจการที่ดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ บางบริษัทถึงกับนำนโยบายการบริหารความเสี่ยงมาใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มกิจการส่งออก ที่นอกจากจะบริหารความเสี่ยงจากการหดตัวของปริมาณการค้าโลกที่เส้นกร๊าฟมูลค่าการค้าปักหัวลาดลงต่ำกว่าปีที่แล้ว 4-5 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ยังเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะขณะนี้เงินทุนเคลื่อนย้าย ( fund flow) จากยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นไหลเข้ามามากหลังจาก Brexit เข้ามาหนุนค่าบาทให้แข็ง ค่าบาทแข็งนอกจากทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นแล้วยังทำให้ผู้ส่งออกขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อมีการชำระราคาด้วย ในภาวะเช่นนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่กล้าขยายกิจการหรือลงทุนใหม่ ยกเว้นบางสาขา เช่นด้านก่อสร้าง และด้านพลังงานทดแทนที่รัฐลงทุนโดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อีกกลุ่มที่รับร่างรัฐธรรมนูญคือกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนกปปส. เพราะเชื่อว่า เมื่อรับร่างฯแล้ว งานต่อไปคือการกระตุ้นการปฏิรูปประเทศ มีการตั้งกรอบเวลาในการปฏิรูปประเทศทุกด้านเอาไว้ 20 ปี คงจะลืมไปว่า เคยมีการนำคำว่า”ปฏิรูป” (ปร.)มาใช้แทนคำว่า “ปฏิวัติ” เมื่อปี 2519 มีการตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมา ที่เรียกตัวเองว่า “หอย”ใน”เปลือก”ของคณะปฏิรูป มีนายธานิทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนั้นดำเนินนโยบายขวาตกขอบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อืดอาด ตั้งแผนการปฏิรูปถึง 3ชั้น วางกรอบเวลาไว้ถึง 12 ปี หวังสืบทอดอำนาจกันเต็มพิกัด คณะปร.เห็นว่านานเกินไป จึงทำรัฐประหารตัวเองอีกครั้ง เอาพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการทำรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลแล้วตั้งสภาปฏิรูปใหม่ ทำการปฏิรูปแค่ ปีเดียวเท่านั้น ปี 2522 มีการเลือกตั้ง พรรคของพลเอกเกรียงศักดิ์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว คำว่าปฏิรูปในยุคนั้น กลับมาวนเวียนในวังวนรัฐประหารอีกครั้งในวันนี้ บนเส้นทางที่มีส่วนแตกต่างกันจากครั้งนั้นไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์กำลังแพแตก มีนักการเมืองตัวเด่นๆหลายคนบอกว่า ได้รับการทาบทามจากคนสาย “ ประยุทธ์” โดยไม่บอกว่าประยุทธ์ไหนให้ไปร่วมพรรคใหม่ เตรียมไว้เลือกตั้งปี 2560