ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 (1)ตามพ.ร.ป.ว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47(1) ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือในคำวินิจฉัย ยังระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ทั้งนี้ทั้งนั้น มติของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก่อนที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในประเด็นนี้ ในวันที่ 18 กันยายน ซึ่งอาจมีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด” ซึ่งในมุมมองของนักกฎหมายเห็นว่า คำวินิจฉัยผูกพันรัฐสภา ฝ่ายค้านจึงไม่อาจยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติได้อีกต่อไป ขณะที่บางส่วนจะเห็นแย้งว่าสามารถอภิปรายได้ เนื่องจากการอภิปราย ไม่ได้ลงมติ ไม่ถือเป็นการตรวจสอบ ฟังจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินหน้าเปิดอภิปรายต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญและคนละภารกิจกับศาลรัฐธรรมนูญ กระนั้นในเชิงการเมืองแล้ว จากผลคำวินิจฉัยดังกล่าว ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเดินหน้าบริหารประเทศได้ต่อไปไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ หรือเป็นโมฆะอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล ในขณะเดียวกันจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญจากกรณีดังกล่าว อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะเป็นประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อาจต้องขบคิดในประเด็นดังกล่าว