แก้วกานต์ กองโชค ก่อนที่วันลงประชามติจะมาถึง ดัชนีตลาดหุ้นในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559 ก็ปรับตัว เพิ่ง ขึ้น 10.76 จุด โดยยืนที่ระดับ 1518.69 จุด สำหรับผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ปรากฎว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิประมาณร้อยละ 55 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดจำนวน 50,261,529 คน ผลคะแนนที่ร้อยละ 94 ทั่วประเทศ ปรากฎว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งประเทศ 27,623,126 คน ประเด็นแรก ร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับคะแนนเห็นชอบ 15,562,027 เสียง คิดเป็นร้อยละ 61.40 ไม่เห็นชอบ 9,784,680 เสียง คิดเป็นร้อยละ 38.60 ส่วนประเด็นที่สอง คำถามพ่วงให้ ส.ว. 250 คน ที่ คสช.แต่งตั้งร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับคะแนนเห็นชอบ 13,969,594 เสียง คิดเป็นร้อยละ 58.11 ไม่เห็นชอบ 10,070,599 เสียง คิดเป็นร้อยละ 41.80 ผลการลงประชามติดังกล่าว สะท้อนอย่างชัดเจนว่า คนไทยอยากให้มีการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่า จะเกิดขึ้นปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 นั่นทำให้ตลาดหุ้นในวันจันทร์ 8 สิงหาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผลการสำรวจของกรุงเทพโพล เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2559 โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พบว่า 5 เรื่องที่ประชาชนหวังมากที่สุดหลังรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ อันดับ 1 ร้อยละ 34.3     อยากให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดีขึ้น การลงทุนจากต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น การค้าขาย การจ้างงานในประเทศดีขึ้น ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น อันดับ 2  ร้อยละ 14.6 อยากให้ประเทศไทยปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในส่วนของนักการเมืองและข้าราชการ อันดับที่ 3 ร้อยละ 11.9 อยากให้บ้านเมืองสงบ ไม่มีความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ชุมนุมทางการเมือง  อันดับที่ 4 ร้อยละ 9.6   อยากให้ประเทศมีการเดินหน้าพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องในทุกด้าน อาทิ การศึกษา ความสัมพันธ์กับต่างชาติ และอันดับที่ 5 ร้อยละ 8.5 อยากให้ประเทศมีการเลือกตั้งโดยเร็ว แม้ว่า ความต้องการให้การเศรษฐกิจฟิ้นตัว จะมาเป็นอันดับ เพราะคนเดือดร้อนจากของแพง และหารายได้ลำบาก แต่หลายคนเชื่อว่า หากมีการเลือกตั้ง เศรษฐกิจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่มีความหวัง แล้วการเลือกตั้งจะเกิดเมื่อไหร่ ? โรดแมพเบื้องต้น พอจะสรุปได้ดังนี้ 1. ต้องนําคําถามพ่วงไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้อง ใช้เวลาประมาณ 30 วัน (เสร็จภายในเดือนก.ย.59) 2. ส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจอีกไม่เกิน 30 วัน (เสร็จภายในเดือนต.ค.59) 3. นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันศาลรัฐธรรมนูญตรวจแล้วเห็นว่าไม่ต้องแก้ไข (เสร็จภายในเดือน พ.ย.59) 4. ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยภายในระยะเวลา 90 วัน (ซึ่งขั้นตอนนี้เกิดขึ้นเร็วในทุกครั้งที่ผ่านมา) 5. กรธ.ต้องจัดทําร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับภายใน 240 วัน (เสร็จภายในเดือนก.ค.60) 6. สนช.พิจารณาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับภายใน 60 วัน (เสร็จภายในก.ย.60) 7. จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 150 วันนับจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญบังคับใช้ (ประมาณก.พ.61) แปลไทยเป็นไทยอีกครั้งก็คือ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดก็ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นั่นจึงทำให้ภาคเอกชนเริ่มจะมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น พิจารณาได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 59 จากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 61.4 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 60.6 ในเดือน มิ.ย. 59 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน แต่กระนั้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2559 ยังไม่สู้ดีนัก หลายสำนักมีความเห็นตรงกันว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 255,000 ตําแหน่งในเดือนก.ค.59 (ดีกว่าที่ นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.8 แสนตําแหน่ง) หลังจากทะยานขึ้น 287,000 ตําแหน่งในเดือนมิ.ย.59 ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.9% แต่เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัว !!!