ประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปตามโรดแมป อีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว เรื่องที่สำคัญที่สุดต่อไปคือ “กฎหมายลูก” ที่ต้องรองรับหลักการในรัฐธรรมนูญ อย่าให้ซ้ำรอยบทเรียนรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่มีกฎหมายลูกรองรับ
โดยหลักทฤษฎีแล้ว เมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตย ผู้คนมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องหนึ่ง ๆ ที่อาจแตกต่างกันได้ แล้วสังคมจะได้เลือกสรรนำความคิดเห็นที่ดีที่สุดนั้นมาใช้
แต่ในเมืองไทยนั้น ผู้คนไม่ค่อยยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างใครเห็นต่างกันก็กลายเป็นศัตรูกันได้ง่าย ๆ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านสรุปประชาธิปไตยเมืองไทยไว้ได้ชัดเจนมาก ดังนี้
“พรรคการเมืองนั้นในธาตุที่แท้ก็คือพวก
คนไทยนั้นแบ่งพวกทีไรก็ตีกันทุกที
แบ่งเป็นทีมฟุตบอลก็ตีกัน
แบ่งเป็นหลายโรงเรียนก็ตีกัน
แบ่งเป็นคณะในมหาวิทยาลัยก็ตีกัน
พุธโธ่เอ๋ย ! แบ่งเป็นธรรมยุติและมหานิกาย ท่านยังไม่ร่วมสังฆกรรมกันนี่ครับ
ความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงที่แล้วมานั้นก็มาจากพรรคการเมืองหนึ่งละ
ระบอบประชาธิปไตยนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน
ตามหลักวิชาการนั้นถ้าเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันได้ แสดงความคิดเห็นนั้นได้โดยเสรีอย่างเปิดเผย ความคิดเห็นอีกอย่างหนึ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์และใช้การได้ก็จะเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน
แต่คนไทยนั้นหากใครมีความเห็นขัดแย้งกับตนก็ถือเป็นศัตรูเสียแล้ว
และเมื่อเห็นว่าใครเป็นศัตรูแล้วก็ย่อมจะไม่เกื้อกูล มีแต่จะหาทางทำลาย
ความคิดเห็นในทางการเมืองและที่เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมนั้นแยกไม่ออกจากความรู้สึกส่วนตัว
แม้ใครมีความคิดเห็นแตกต่างเกี่ยวกับเรื่องส่วนรวมก็หมางใจเสียแล้ว
ทางฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างนั้นก็พอกัน
เมื่อมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง ก็อดที่จะวกเข้าเรื่องส่วนตัวไม่ได้
เลยกลายเป็นเล่นลำตัด ด่ากันหยาบ ๆ ไป
ในระบอบประชาธิปไตยนั้นคนที่มีความคิดเห็นและแนวทางในอันที่จะทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองตรงกันก็จะรวมกลุ่มกัน
หากได้เป็นรัฐบาลก็จะช่วยกันทำให้แนวทางที่จะทำประโยชน์ร่วมกันนั้นได้ผลจริงจังขึ้นมา
ในเมืองไทยเรานั้นรัฐบาลก็เป็นรัฐบาล
อาจประกอบขึ้นด้วยใครก็ได้
ส่วนผู้แทนที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นก็เป็นผู้แทน
เป็นผู้แทนซึ่งฟ้าดินบันดาลให้เกิดมาสนับสนุนรัฐบาลโดยแท้
ใครเป็นรัฐบาลเป็นสนับสนุนได้หมด
เพื่อเรียกร้องสิ่งตอบแทนซึ่งเป็นประโยชน์ของท้องถิ่นตนอย่างสูง
หรือเรียกร้องประโยชน์ตนเป็นอย่างต่ำ
แต่ประโยชน์ท้องถิ่นหรือประโยชน์ตนนั้น ก็ไม่เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมของชาติบ้านเมืองเท่ากัน
ผู้แทนที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นเอง ในที่สุดก็กลายเป็นหนามยอกอกรัฐบาลยิ่งกว่าฝ่ายค้าน
ถ้าตามใจทุกอย่างไปบ้านเมืองก็พัง
ถ้าไม่ตามใจเลย หรือตามใจแต่น้อยรัฐบาลก็พัง” (“คึกฤทธิ์ ปราโมช”)
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังสรุปไว้ด้วยว่า ปัญหาของพรรคการเมืองไทยมี 2 สภาวะคือ นักการเมืองแข็งกับพรรคฯแข็ง
นักการเมืองแข็งคือภาวะที่พรรคการเมืองต้องง้อ ส.ส ซึ่งจะก่อปัญหา “เป็นหนามยอกอกรัฐบาลยิ่งกว่าฝ่ายค้านเสียอีก”
ส่วนภาวะพรรคการเมืองแข็งก็เห็นกันชัดเจนในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แล้วเกิดปัญหามากมาย
ทั้งสองปัญหาคือ “นักการเมืองแข็ง” กับ “พรรคการเมืองแข็ง” ถ้าจัดการไม่ดีก็ล้วนบั่นทอนประชาธิปไตยเช่นกัน