รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ความวิตกกังวล เป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พบได้เป็นปกติในมนุษย์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ความเครียดต่างๆ ซึ่งแสดงออกทั้งในทางความคิด และความรู้สึกทางกาย ผลักดันให้คนเราแก้ปัญหาและคิดพัฒนาสิ่งต่างๆ แต่ถ้าความคิดวิตกกังวลนั้น มากเกิน ควบคุมไม่ได้หรือไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ร่วมกับมีอาการมากเกินไป ก็จัดเป็นความผิดปกติแบบหนึ่งก็ทำให้เกิดความเครียด ความทุกข์ใจ จนทำให้เกิดโรคภัย เช่น โรคเครียด ได้ในที่สุด ท่ามกลางความวิตกกังวลและความหนักใจของประชาชนที่มีในบ้านเมือง ณ วันนี้ ทั้งในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่ทุกคนจะต้องเผชิญและผ่านไปให้ได้นั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความเป็นห่วงและวิตกกังวล ดังนั้น เพื่อเป็นการสะท้อนระดับความวิตกกังวลที่ประชาชนมีต่อสภาพปัญหาของประเทศ ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขในความต้องการของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในประเด็น ความวิตกกังวลของคนไทย ที่มีต่อ “การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ณ วันนี้ จำนวน 1,172 คน สรุปผลได้ ดังนี้ สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล “ด้านการเมืองไทย” ณ วันนี้ มีเรื่องใดบ้าง? พร้อมเสนอวิธีแก้ไข พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” มากที่สุด คือ การบริหารประเทศ การพัฒนาประเทศของรัฐบาล ร้อยละ 43.76 วิธีแก้ไข ควรเร่งดำเนินงานตามนโยบายที่หาเสียงไว้ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา แก้ให้ตรงจุด สร้างความเข้าใจแก่ทุกฝ่าย เลือกคนให้เหมาะกับงาน ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ พฤติกรรมของนักการเมือง การทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้งแตกแยก ร้อยละ 38.83 วิธีแก้ไข นึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ ยุติการทะเลาะเบาะแว้ง ควรใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาหักล้างกัน มีข้อตกลงร่วมกันที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ยอมรับได้ ฯลฯ การทุจริต คอรัปชั่น แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ร้อยละ 33.20 วิธีแก้ไข ควรเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ มีการติดตามดำเนินการอย่างเคร่งครัด ควบคุมการใช้งบประมาณ มีบทลงโทษรุนแรง ไม่ละเว้น ฯลฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 14.19 วิธีแก้ไข ต้องยึดความถูกต้อง ไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มีเนื้อหาเหมาะสมกับบริบทของไทย ไม่สองมาตรฐาน ใช้ได้ในระยะยาว ฯลฯ เสถียรภาพทางการเมือง ร้อยละ 12.27 วิธีแก้ไข รัฐบาลต้องมีจุดยืน ทุกฝ่ายตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน เร่งสร้างผลงาน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จ ทำงานให้สอดคล้องกับนโยบาย ฯลฯ สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล “ด้านเศรษฐกิจ” ณ วันนี้ มีเรื่องใดบ้าง? พร้อมเสนอวิธีแก้ไข พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” มากที่สุด คือ ของแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 62.39 วิธีแก้ไข ภาครัฐต้องช่วยเหลืออย่างจริงจัง ควบคุมราคา การเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง ประชาชนต้องประหยัด วางแผนการใช้จ่าย ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สิน ร้อยละ 35.05 วิธีแก้ไข มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดดอกเบี้ย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ต้องหารายได้เสริม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ฯลฯ เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ร้อยละ 22.75 วิธีแก้ไข รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติเข้ามาลงทุน มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเกิดการจ้างงาน ฯลฯ ปัญหาการตกงาน ว่างงาน ร้อยละ 16.15 วิธีแก้ไข หาอาชีพเสริม สร้างงานสร้างรายได้ มีนโยบายช่วยเหลือช่วงว่างงาน มีโครงการจัดหางานช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 14.22 วิธีแก้ไข มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร พยุงราคา มีตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า ประชาชนช่วยกันอุดหนุน ฯลฯ สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล “ด้านสังคม” ณ วันนี้ มีเรื่องใดบ้าง? พร้อมเสนอวิธีแก้ไข พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” มากที่สุด คือ อาชญากรรม การใช้ความรุนแรง ร้อยละ 54.81 วิธีแก้ไข บทลงโทษต้องรุนแรง ดำเนินการทางกฎหมายอย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ คุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกของคนในสังคม ร้อยละ 29.45 วิธีแก้ไข ครอบครัวปลูกฝัง อบรมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเยาว์ ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี พัฒนาการศึกษา ฟื้นฟูศาสนาให้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ฯลฯ สถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง 23.31 วิธีแก้ไข รัฐบาลควรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รณรงค์ให้ทุกคนมีจิตสำนึก ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ปัญหาเด็กแว้น เสพยา ทะเลาะวิวาท 17.38 วิธีแก้ไข สถานศึกษาและครอบครัวควรช่วยกันดูแลบุตรหลาน มีเวลาให้กัน ให้ความรักความอบอุ่น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฯลฯ และการใช้สื่อโซเชียลในทางที่ผิด 11.55 วิธีแก้ไข มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่แชร์สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ภาพที่ไม่เหมาะสม ควรใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อ ฯลฯ เมื่อพิจารณาจากผลการสำรวจแล้ว ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ณ วันนี้ คนไทย จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลที่หลากหลายและเราก็คงไม่อาจหลีกหนีความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเหล่านั้น แล้วจะทำอย่างไร? ให้ “คนไทย” สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยวิกฤติปัญหาต่างๆ ก็คงต้องอาศัยการ “คิดบวก...” คือ การมองสิ่งต่างๆ อย่างเข้าใจ ยอมรับได้ในด้านลบ มองปัญหา ความทุกข์ ความไม่ราบรื่นเป็นเรื่องธรรมดา ตลอดจนรู้จักเลือกใช้ประโยชน์จากด้านบวกที่แฝงอยู่จากสิ่งนั้นๆ ได้ หาก “คิดบวก” แล้ว เชื่อว่า “คนไทย” ก้าวผ่านความวิตกกังวลต่างๆ ได้อย่างแน่นอน... ถ้าไม่เชื่อลองตามทำดู..!?!