“ ผมไม่ขัดขวางอยู่แล้ว ดังนั้นการจะออกมาเดินสายแก้รัฐธรรมนูญผมว่ามันไม่ใช่ อย่าลืมว่าการรณรงค์การรวมตัวเดินอะไรต่างๆ เหล่านี้ต้องมีกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่รัฐบาลจะไปห้าม แต่ไม่ต้องการให้มันบานปลาย เดี๋ยวก็บานปลายไปอีกนั่นแหละ เคยหยุดกันได้ที่ไหนคนที่ปลุกระดมออกมา ไม่เคยหยุดได้ ก็มีปัญหามากันทุกรัฐบาล” “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อ ต่อกรณีทั้ง “พรรคร่วมรัฐบาล” ด้วยกันเอง ไปจนถึง “ฝ่ายค้าน” ยื่นข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะนาทีนี้น่าสนใจว่า ประเด็นที่กำลังปลุกความร้อนแรงให้กับรัฐบาล อาจไม่ใช่วาระที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเตรียมตัวรับมือกับ “ศึกซักฟอก” กลางสภาฯ ในวันที่ 18 ก.ย.จากประเด็นที่ว่าด้วยการถวายสัตย์ฯ เมื่อวันนี้การรุกไล่ กดดันให้พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนต่อวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะชัดเจนและสนองตอบอย่างไร โดยเฉพาะยิ่งเมื่อ “พรรคประชาธิปัตย์” หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลเองคือ พรรคที่แสดงความชัดเจนในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากกว่าใครเพื่อน จึงหมายความว่า พรรคพลังประชารัฐ กำลังเผชิญหน้ากับ การถูกกดดันจาก “7พรรคฝ่ายค้าน” ที่เปิดเกมเคลื่อนไหว “นอกสภาฯ” ปลุกพี่น้องประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญว่าเหตุใด จึงจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับคสช. ทั้งการตีแผ่ถึง ปัญหาและ “กับดัก” ต่างๆที่วางเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 ทั้งการเชื่อมโยงให้พี่น้องประชาชนได้เห็นว่าเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” นั้นมีผลเกี่ยวเนื่องกับ “ปัญหาปากท้อง” อย่างไร โดยมี “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นเหมือน “ตัวประกัน” ของ7พรรคฝ่ายค้าน เพราะต้องไม่ลืมว่าลำพังแรงกดดันของ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคอนาคตใหม่” ที่เดินสายเปิดเวทีตามจังหวัดต่างๆ นั้นย่อมถูกโจมตีและหักล้างว่ามีเป้าหมายสร้างความวุ่นวาย ให้กับรัฐบาล แต่เมื่อ พรรคฝ่ายค้านดึงเอา “สัญญา” ของพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลมาเพิ่มน้ำหนัก กระแทกไปยังพรรคพลังประชารัฐ ย่อมทำให้เกิดผล เกิดแรงเหวี่ยงได้มากกว่าการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน แต่หากจับสัญญาณจาก “บิ๊ก” ในรัฐบาล ตลอดจน “แกนนำ” จากพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติพัฒนา แล้ว กลับพบว่าสัญญาณการขานรับว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับ “แผ่ว” เต็มที ! เมื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บอกเลยว่า ตอนนี้ต้องเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม มากกว่าที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อ บิ๊กตู่ ส่งสัญญาณข้างต้นด้วยการเชื่อมโยง การแก้รัฐธรรมนูญ ไปพันกับการเคลื่อนไหว “นอกสภาฯ” ที่อาจนำไปสู่ “การรวมตัว” และ เกิดความวุ่นวายขึ้น จนบานปลายแล้ว ดูจะชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว วาระการแก้รัฐธรรมนูญ ในสายตาของ “บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่” นั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นโจทย์ข้อยากจึงเทไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะเดินหน้า ขยับการแก้รัฐธรรมนูญ ต่อไปด้วยความแข็งขันหรือจะยอมแตะเบรค ชะลอเอาไว้ก่อน !