แสงไทย เค้าภูไทย โลกในภาวะก๊าซเรือนกระจก น้ำแข็งขั้วโลกละลายเพิ่มระดับน้ำทะเล อุณหภูมิสูงที่เพิ่มปะทะลมเย็นจากขั้วโลกเพิ่มแรงกดดันในบรรยากาศเหนือผิวทะเล เกิดกระแสลมแรงระดับเจ๊ตสตรีม หอบฝนเข้าหาแผ่นดิน เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น น้ำท่วมมากขึ้น มนุษย์ทำลายป่ามากกว่าสร้างทดแทน โลกวันนี้จึงไม่เหมือนเดิมในทศวรรษก่อนๆอีกแล้ว มองกันว่าน้ำท่วมหนักภาคอิสานเป็นไปตามปรากฏการณ์เอลนีโญ่และลานิญ่า โดยเกิดขึ้นตามระยะเวลา ตามสถิติที่เคยเกิด เพียงแต่ปีนี้มีผลรุนแรงกว่าปีก่อนๆ บางพื้นที่อย่างอุบลราชธานี น้ำท่วมที่สุดในรอบ 60 ปี แสดงว่าครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก สถิติบ่งว่า เคยเกิดมาแล้ว สอดคล้องกับคำพยากรณ์สงกรานต์ ที่ใช้ลักษณะ "สถิติพยากรณ์" สำหรับปี 2562 มีว่า นางสงกรานต์ปีนีชื่อนางทุงสะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิมเสด็จนั่งมาเหนือหลังครุฑ นาคให้น้ำ 3 ตัว บันดาลฝนตก 500 ห่า แบ่งเป็น ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในจักรวาล 200 ห่า เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ 2 ชื่อวิบัติข้าวกล้าในภูมินา ฝนตกบนโลกมนุษย์แค่ 50 ห่า แต่ทำความเสียหายให้แก่ข้าวกล้าในภูมินาขนาดนี้ ถ้าหากตกถึง 150 ห่าเหมือนที่ตกในป่าหิมพานต์ หรือ 200 ห่าในจักรวาล จะมิหนักหนาท่วมฟ้ากันหรือ ? อันที่จริง ฝนตกจริงๆอาจจะแค่ 50 ห่าตามคำพยากรณ์ก็ได้ แต่น้ำที่หลากมาล้นหลามท่วมเกือบมิดหลังคาบ้านนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากฝนที่ตกในป่าหิมพานต์ก็ได้ ถ้าเป็นสมัยทวด ปู่ย่า ตายาย น้ำคงไม่บ่ามาจากป่าหิมพานต์ เหตุจากมีต้นไม้ป่าคอยสกัด ลดความเร็วของน้ำ จนพื้นที่ป่าสามารถดูดซับ "น้ำป่าหิมพานต์" ได้ ไม่ไปท่วม "ภูมินา" บ้านเรือนราษฎร์จนเกิดอุทกพิบัติอย่างนี้ ภาพภูเขาหัวโล้น ภาพป่าถูกทำลาย จนถึงภาพไฟไหม้ป่าอะเมซอนที่บราซิล ส่อให้เห็นว่า ยังมีการทำลายป่ากันไม่หยุด ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงการเผาวัชพืช ตอซัง ในพื้นที่เกษตรที่อยู่ใกล้ป่า เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกฤดูใหม่นั้น น่าจะเป็นการสรวมรอยเผาป่าเพื่อฉวยโอกาสขยายพื้นที่เพาะปลูก ป่าฝนอะมเซอน (Amazon Rain Forest) ได้ชื่อว่าเป็น "ปอด" แม่ธรณี (lungs of mother earth) เพราะเป็นโรงงานผลิตออกซิเจนผืนใหญ่ที่สุดในโลก ไฟไหม้ป่าอะเมซอนครั้งนี้รัฐบาลบราซิลถูกประนามจากทั่วโลกว่า ไม่เหลียวแลปกป้องป่าฝนสำคัญผืนนี้ เหตุแห่งหายนะคือ การสนับสนุนการทำเกษตรทุนนิยม ด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่ใช้พื้นที่(ป่า)มาเป็นที่ดินเกษตรกรรม กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมก็เช่นกัน เป็นตัวเร่งโลกร้อนจากศตวรรษที่ 20 มาจนถึงวันนี้ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การลดพื้นที่สีเขียว ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ภาวะโลกร้อนจนน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายกำลังเป็นจุดเสี่ยงทายอนาคตโลก กำลังจะเป็น death sentence ต่อมวลมนุษยชาติ ด้วยปรากฏการณ์น้ำท่วมโลก ภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเสมือนผ้าห่มที่คลุมโลกสกัดกั้นมิให้ความร้อนที่เกิดขึ้นบนโลกทะลุขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นการคายความร้อน ทำให้ความร้อนยังตกค้างอยู่บนโลก มาสาเหตุมาจาก 1.ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจาก การเผาไหม้เชื้อเพลิง โรงงานอุตสาหกรรมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล(ถ่านหิน น้ำมันเเตา ดีเซล ก๊าซเหลว ฯลฯ) จากท่อไอเสียรถยนต์ จากการเผาวัชพืชในแปลงเพาะปลูก และจากการเผาป่าเพื่อนำพื้นที่ไปทำแปลงเกษตรกรรม 2.ก๊าซมีเทนที่ เกิดจาก การย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิต ทั้งในแหล่งชุมชนแออัดและในพื้นที่ที่มีเกษตรกรรมน้ำขัง เช่นนาข้าว 3.ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่เกิดจาก อุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในกระบวนการผลิตและการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในการทำเกษตรกรรม การลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการลดกิจกรรมที่เป็นตัวการสร้างก๊าซดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องเพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนให้โลกด้วย แหล่งสร้างออกซิเจนที่สำคัญที่สุดคือป่า แต่พื้นที่ป่าลดลงทุกวัน อันเกิดจากการรุกล้ำของมนุษย์ ตัวอย่างล่าสุดคือป่าอะเมซอน ประเทศไทยที่ประสบภาวะน้ำท่วมหนักในขณะนี้ สาเหตุหลักนอกจากพายุดีเพรสชั่นหรือพายุโซนร้อนตามปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ลานิญ่าแล้ว ยังเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า เผาป่าไปทำเกษตรกรรม ทำรีสอร์ต ภูเขาที่เคยเป็นป่าสมบูรณ์ดักทางผ่านของพายุฝนให้ตกในป่าหิมพานต์ดังคำพยากรณ์สงกรานต์มากกว่าผ่านไปตกในเมือง ยุคนี้โล้นเลี่ยน การลดพื้นที่ป่าของเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะแนวขวางทางลมและพายุฝนได้แก่กัมพูชา เวียดนาม ลาว ลดน้อยลงมากเช่นกัน พายุจากทะเลจีนใต้เมื่อพัดเข้าฝั่ง จึงนับวันแต่จะมีความเร็วเพิ่มขึ้น ปกติความเร็วลมของพายุในย่านทะเลจีนใต้และแปซิฟิกจะประมาณ 34 น๊อตต่อชั่่วโมง( 62 กิโเมตร) จนถึงไต้ฝุ่น 62 น๊อต( 117 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันนี้ ความเร็วขึ้นไปถึงระดับเจ็ตสตรีม 92.5 น๊อตหรือ 171.125 ก.ม.ต่อชั่วโมงขึ้นไป จากทะเลจีนใต้ขึ้นฝั่งเวียดนามมาภาคอิสานของเรา ใช้เวลาแค่กินข้าวไม่ทันหมดชาม สมัยก่อนพายุโซนร้อนส่วนใหญ่จะมาจากอ่าวไทยและอ่าวเบงกอล ช่วงเข้าพรรษาในภาคกลาง ฝนชุกปลายฤดูที่เรียกว่า "ฝนไล่น้ำ" ทำให้เกิด "น้ำนอง" เป็น" หน้าน้ำ" เกิดประเพณีเกี่ยวกับน้ำอย่างเช่น แห่เรือผ้าพระกฐิน ลอยเรือ "นพพระเล่นเพลง" ลอยกระทงเป็นต้น สมัยนี้พายุที่เกิดในทะเลจีนใต้ที่เป็นทะเลเปิดสู่มหาสมุทรแปซิฟิก มุ่งขึ้นฝั่งเวียดนามมาลาว มาไทยถี่กว่าเกิดในอ่าวไทยและอ่าวเมาะตะมะที่เชื่อมต่อกับอ่าวเบงกอลเหมือนในอดีตแล้ว ทำให้ฝนฟ้าที่เกิดขึ้น ในเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว และคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน