ทวี สุรฤทธิกุล
“ศักดินา” นั้นเลวร้ายอย่างไรรึ?
ประการแรก อย่างที่เราอยู่กันมา ด้วยระบบที่เราต้องพึ่งพิง “ผู้มีอำนาจวาสนา” ทำให้เรา “ไปไม่เป็น” เอะอะมีปัญหาอะไรก็ร้องหาผู้มีอำนาจ เป็นที่ชอบใจของผู้อยากมีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ พูกง่ายๆ ว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมก็คือ ความ “ใจอ่อน” ของคนไทย ที่ไม่ค่อยสนใจว่าใครจะมาปกครอง ขอให้ตัวเองอยู่สุขอยู่สบายต่อไปก็พอ แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือความเกรงกลัวผู้มีอำนาจ ยอมที่จะให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ มองว่าปัญหาของบ้านเมืองคือปัญหาของผู้ที่มีอำนาจ หาใช่ราษฎรตัวเล็กๆ ไม่ เอาแต่รักษาตัวรอดและหาหนทางแต่จะพึ่งพิงผู้มีอำนาจวาสนาเหล่านั้น
ประการต่อมา ระบอบศักดินาสร้างความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม เพราะโดยพื้นฐานของระบอบนี้คือการจัดระเบียบชนชั้นทางสังคม โดยผู้ปกครองในยุคโบราณมีวัตถุประสงค์หลักต้องการจะบังคับบัญชาสั่งการ “ควบคุม” ผู้คน เพื่อใช้แรงงานของผู้คนในการทำงานให้แก่รัฐ ได้แก่ การทำศึกสงคราม การก่อสร้างงานสาธารณะ การเก็บส่วย และผลประโยชน์ต่างๆ ของรัฐ ที่เรียกง่ายๆ ว่า “ระบบไพร่” แม้ต่อมาจะมีการยกเลิกระบบไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ด้วย “ความคุ้นเคย” ที่สั่งสมอยู่ในระบบต่างๆ ของสังคมไทยกว่า 500 ปี ก็ยังคงทำให้คนไทยจำนวนมากยังรู้สึกว่า เรานั้นยังไม่เท่าเทียมกันแต่อย่างใดเลย
อีกประการหนึ่ง เมื่อบ้านเมืองเราพยายามจะเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยความที่คนไทยไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย คุ้นเคยอยู่กับระบบ “ท่านสร้างให้” ทำให้ผู้นำยกมาเป็นข้ออ้างในการ “เตรียมความพร้อม” ต่างๆ นานา แม้แต่ในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็พยายาม “กำกับ” ประชาธิปไตยให้อยู่แต่ในกลุ่มตน แล้วผู้นำที่รับช่วงต่อๆ มาก็ “เลียนแบบ” คณะราษฎร ด้วยการพยายามที่จะรักษาอำนาจใอยู่แต่ในกลุ่มตน ไม่เว้นแม้แต่ในระบบที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทั้งหลายก็พยายามจะไม่ให้อำนาจที่ได้มานั้นหลุดรอด ทั้งยังพยายามที่จะ “เสริม” อำนาจนั้นให้ยิ่งใหญ่และแข็งแรง ดังที่เราได้เห็นพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในบางยุคสมัย “เหิมเกริม” คิดจะ “กินรวบ” ประเทศไทย
“ศักดินา” ได้ทำให้ชนชี้นนำบางกลุ่ม “ย่ามใจ” และคิดจะครอบครองประเทศไทยให้อยู่ในอุ้งมือ ดังที่เราได้เห็นในยุคใกล้ๆ ตัวเรานี้ ที่เริ่มต้นก็ได้อาศัย “ความกลัวผู้มีอำนาจ” ของคนไทยเข้าทำการยึดอำนาจ โดยอ้างว่าเข้ามา “รักษาสถานการณ์” สร้างบ้านเมืองให้เรียบร้อย (ชื่อก็บอกแล้วว่า “คณะรักษาความสงบ(เรียบร้อย)แห่งชาติ) เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้วก็จะคืนอำนาจนั้นสู่ประชาชน โดย “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่ต่อมาจากนั้นก็พยายาม “จัดฉาก” ให้ดูเอิกเกริกวุ่นวาย มีคณะปฏิรูปประเทศ มีคณะร่างรัฐธรรมนูญ โดยหมกเม็ดไว้อย่างซับซ้อนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว แล้วพอถึงเวลาหนึ่งก็ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นแท้งไป ตั้งสภาปฏิรูปกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ จัดการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างประณีต ด้วยการจัดวางกลไกที่จะสืบทอดอำนาจไว้อย่างแยบยล จนเวลาผ่านไปเข้าปีที่ 5 จึงได้ประกาศให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็เต็มไปด้วยกลอุบายที่คนทั่วๆ ไปยากจะเข้าใจ เช่น ระบบการเลือกตั้งและการนับคะแนนแบบใหม่ การดูดกลืนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามมาเข้าด้วยพรรคแกนนำรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อการเลือกตั้งประกาศผลแล้วก็ดูดกลืนพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาหนุนรัฐบาล เป็นต้น
กระบวนการในการ “สร้างอำนาจเหนือ” ของชนชั้นนำบางกลุ่มนี้ ได้อาศัย “วัฒนธรรมศักดินา” ดังที่อธิบายมาข้างต้นทั้งสามประการนั้น คือชนชั้นนำเหล่านั้นรู้ว่าคนไทย “ไม่เอาไหน” ไม่กล้าต่อต้านหรือโงหัวขึ้นสู้ (แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ไม่ชอบศักดินา และรู้ดีว่าศักดินานี้ไม่ดีอย่างไร แต่ด้วยสภาพของ “ศักดินาเหนือศักดินา” ก็ทำให้คนกลุ่มนี้จำต้องก้มหัวให้ชนชั้นนำกลุ่มนี้ต่อไปโดยดุษณีย์) ก็ฉวยเอาอำนาจนั้นไว้อย่างไม่เกรงใจ ต่อมาด้วยเมื่อชนชั้นนำพวกนี้มีอำนาจขึ้นมาแล้ว ก็จะวางตัวว่าอยู่ในฐานะ “ถือไพ่เหนือ” คือคิดเองทำเองแทนประชาชน กล่าวอ้างว่าประชาชนต้องการอย่างสิ่งโน้นสิ่งนี้ แล้วก็ “จัดให้” ตามแต่ที่จะคิดได้ ด้วยนโยบายเอาอกเอาใจประชาชน พร้อมกับจัดการ “ขีดวงล้อม” ไม่ให้คนกลุ่มอื่นเข้ามาช่วงชิงอำนาจ สุดท้ายก็อาศัยความไว้วางใจจากประชาชน วางกลไกเพื่อการสร้างเสริมอำนาจและสืบทอดอำนาจของกลุ่มพวกตน ให้อยู่ในอำนาจนั้นนานเท่านาน ถึงขั้นกำหนดเป็น “เป้าหมายของชาติ” อย่างน้อย 20 ปีนั้น
แต่แรกบทความนี้ตั้งใจจะเสนอรูปแบบและเนื้อหาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ดังชื่อบทความที่ตั้งไว้ แต่เมื่อเขียนมาสักระยะก็ได้รับคำแนะนำจากผู้อ่านกลุ่มเล็กๆ ว่า “คงไม่มีประโยชน์” คงเป็นแค่ “เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง” เสียเวลาเปล่าๆ ด้วยเหตุผลว่า ผู้มีอำนาจกลุ่มดังกล่าวได้วางแผนการณ์ต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มจากการสนองตอบต่อนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่หาเสียงไว้กับประชาชนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่ในอายุของรัฐบาลนี้น่าจะเป็นได้เพียงแค่การตั้งคณะกรรมการศึกษา การรับฟังความคิดเห็น การจัดทำข้อเสนอ ซึ่งก็จะใช้เวลานานเท่าใดก็ได้ ที่สุดจนสิ้นอายุของรัฐบาลนี้ก็จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรคนไทยจำนวนมากก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ถ้าเราต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบนี้
เพลง “ความสุขใต้ร่มศักดินา” ช่างแสนอมตะซะจริงๆ