"7 พรรคฝ่ายค้าน" ปักหมุดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ เอาไว้วันที่ 18 ก.ย. คาดว่างานนี้ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คงจะต้องมีบาดเจ็บ ได้แผลกลับบ้านไปบ้าง จากการถูก "ขุนพล" จากพรรคฝ่ายค้านดาหน้ารุมถล่ม ด้วยปมถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ !
แต่ลึกๆ แล้ว พรรคฝ่ายค้านก็วิตกอยู่ไม่น้อยว่า ในวันเดียวกัน 18 ก.ย.คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ในเวลา 14.00 น.
ถึงกระนั้นการที่ฝ่ายค้านจะรอคอย หวังไปเปิดเกมถล่มในสภาฯ คงไม่ได้การ เพราะกว่าจะถึงวันนั้นบรรยากาศและความร้อนแรงด้วยประเด็นที่ว่าด้วยปมการถวายสัตย์ฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเจือจางลดความเข้มข้น จนกลายเป็นประเด็นที่ปลุกไม่ขึ้น
เพราะสถานการณ์หลายสิ่งหลายอย่างล้วนแล้วแต่ไม่เอื้ออำนวยให้ฝ่ายค้านใช้กลยุทธ์ "ตีเหล็กเมื่อยามร้อน" กว่าที่รัฐบาลจะเคาะวันอภิปรายก็กลับเลือกเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภาฯ จนทำให้ ฝ่ายค้านร้องโอดโอย โวยวายว่า ถูกมัดมือชก ก็ไม่ปาน
มิหนำซ้ำ ระหว่างนี้ รัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องเทน้ำหนักไปที่การเร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานหลายสิบจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติ น้ำท่วมจากฤทธิ์ "พายุโพดุล"
และในวันนี้ (9 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกคณะรัฐมนตรี และข้าราชการที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่มอบนโยบายและตรวจเยี่ยมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ จ.ยโสธร และอุบลราชธานี
สถานการณ์น้ำท่วมกลายเป็นวาระเร่งด่วน ที่ทำให้น้ำหนักการขับเคลื่อนว่าด้วยเรื่องราวทางการเมืองของ "7 พรรคฝ่ายค้าน" แม้ไม่ถึง"ถูกตีตก" แต่ก็เป็น "เงื่อนไข" ที่บีบให้ต้องลงมาลุยน้ำท่วม เพื่อเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แทนการปลุกประเด็นว่าด้วยการเมือง
แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาของพรรคฝ่ายค้าน ยังไม่ได้จบลงเพียงวาระการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 152 โดยไม่มีการลงมติเท่านั้น เพราะในวันเดียวกัน หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ออกมาในทางที่เป็น "บวก" ต่อพล.อ.ประยุทธ์จะทำให้ศึกซักฟอกของฝ่ายค้าน แทบไร้น้ำหนักไปทันที
นอกจากนี้ ยังต้องไม่ลืมว่า อีกวาระสำคัญที่พรรคฝ่ายค้านยังต้องเร่งเดินหน้า ผลักดันกัน "นอกสภาฯ" นั่นคือการปลุกสังคมให้ลุกขึ้นมาร่วมเดินหน้า "แก้รัฐธรรมนูญ" แล้ว "ร่างใหม่" แต่จะเป็นเกมที่ต้องเล่นกันนอกสภาฯ ภายใต้ความกดดันของฝ่ายค้านเองว่า เรื่องนี้จะปลุกขึ้นได้หรือไม่ ?
หากตราบใดที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ยังไม่เกิดขึ้น แม้พรรคฝ่ายค้านจะเขย่า หรือหวัง "ล้มรัฐบาล"ของ พล.อ.ประยุทธ์ มากแค่ไหนก็ตามดูจะไม่มีความหมาย เพราะสุดท้ายพวกเขาจะต้องกลับไปเล่นตามกติกาเดิมที่ฝ่ายค้านเองเชื่อว่า มี "กับดัก"เอาไว้ทุกทางที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามคสช. มีแต่แพ้กับแพ้
ทำไปทำมา วาระการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็น "โจทย์ข้อยาก" สำหรับพรรคฝ่ายค้านที่จำเป็นต้องโหมไฟไม่ให้มอดลงไป ให้มากที่สุด แต่กระนั้นยังเป็นการเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ที่ตัวเองก็ยังต้อง "ลุ้นระทึก" ว่าพรรคจะมีอายุยืนยานไปได้อีกกี่เดือน หากไม่ถูกยุบพรรคไปเสียก่อน !