ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เรื่องราวสืบเนื่องเกี่ยวกับ “โบราณคดี” คือหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เพราะสามารถบ่งบอกหรือสะท้อนถึง “ภาพอดีต” ที่ต่อเชื่อมถึงโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่พิเศษเช่น “ชายแดนใต้” ซึ่งมีเรื่องถกเถียงมากมายในประเด็นเหล่านี้ ผู้เขียนเคยอ่าน เคยติดตาม เรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาบ้าง แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่ค่อยเห็นภาพอะไรชัดเจนมากนัก ตราบกระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับ “กษมาณัชญ์ นิติยารมย์” แห่ง หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้รับทราบข้อมูลล่าสุดที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อมูลที่ได้รับ ทำให้สามารถประติดประต่อเรื่องราวตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาตามยุคสมัยแห่งการก่อร่างสร้างตัว กระทั่งถึงปัจจุบัน โดยพื้นที่ที่มีการค้นพบหลักฐานของแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ คือที่ “อำเภอเบตง” จังหวัดยะลา ซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูตอนกลาง ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย และสหพันธรัฐมาเลเซียตอนบน นับได้ว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอเล่าว่า “เบตง” มีความสำคัญในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นต้นน้ำแม่น้ำปัตตานีซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญของภาคใต้ตอนล่าง จากเทือกเขาสันกาลาคีรี มีแนวทิวเขาสูงสุดเป็นเส้นเขตแดนกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย มีน้ำไหลตลอดปี ความยาวประมาณ 145 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวม 3,858 ตารางกิโลเมตร ไหลผ่านหุบเขาด้านตะวันตกของ อำเภอธารโต ผ่าน อำเภอบันนังสตา ตัวเมืองยะลา แล้วจึงไหลผ่านอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่ จังหวัดปัตตานี ในที่สุด ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ “แม่น้ำปัตตานี” ไหลผ่าน ทำให้เป็นบ่อเกิดลำธารและคลองหลายสาย มีภูเขาลูกโดดอยู่โดยทั่วไป ลักษณะเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จึงปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องจากบริเวณเพิงผาและถ้ำในเขต อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา และ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา การตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ การพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานอย่างชัดเจนและพัฒนาการสู่ชุมชนโบราณยะรัง ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 12-19 สืบต่อมาช่วงสมัยอยุธยา กระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จากการสำรวจร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ทั้งหลักฐานบันทึกเอกสารต่างๆ รวมทั้งผลการขุดค้นและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีจากแหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์ และเพิงผาถ้ำศิลป์ ที่พบทั้งหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุในช่วงเดียวกันตั้งแต่ประมาณ 3000 ปีมาแล้ว และสมัยประวัติศาสตร์ปะปนกัน นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณอำเภอเบตง ยังเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำข้ามคาบสมุทร ระหว่างเมืองโบราณ แหล่งโบราณคดี และชุมชนโบราณ เปิงกาลัน บูจัง รัฐเคดาห์ มาเลเซีย กับชุมชนเมืองโบราณยะรัง (ลังกาสุกะ) อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี สังเกตได้ว่าชาวบ้านยังเรียกต้นน้ำแม่น้ำปัตตานีที่เบตงว่าแม่น้ำ “ลังกาสุกะ” แสดงให้เห็นว่า มีการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ หรืออาจจะเป็นการส่งผ่านมาจากชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่ไม่ห่างจากแหล่งโบราณคดีมากนัก ปัจจุบัน การสำรวจและศึกษาข้อมูลแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ยังมีค่อนข้างน้อย การตีความหลักฐานที่มีอยู่จะเป็นลักษณะเฉพาะที่หรือเฉพาะแหล่ง ขาดความต่อเนื่อง ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ รวมทั้งการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อให้เห็นความเกี่ยวเนื่องทางวัฒนธรรมและพัฒนาการที่ชัดเจนต่อไป ทั้งนี้ แหล่งโบราณคดี “เพิงผาเขาถ้ำทะลุ” บ้านกุนุงจนอง หมู่ที่ 5 ตำบลกุนุงจนอง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในจุดสำคัญของการค้นพบครั้งนี้ โดยสภาพทั่วไปของแหล่งโบราณคดี เพิงผาเขาถ้ำทะลุ ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาถ้ำทะลุ เป็นภูเขาหินปูนลูกโดดขนาดเล็ก รายล้อมไปด้วยสวนยางมีลักษณะเป็นเพิงผาและถ้ำ มีบันไดทางขึ้นปูพื้นคอนกรีตและราวบันไดทำด้วยเหล็กระหว่างบันไดทางขึ้นเป็นที่พักสงฆ์ เพิงผาถ้ำอยู่สูงจากพื้นดินด้านล่างประมาณ 100 เมตร กว้างประมาณ 5 เมตร ถูกปรับพื้นปูด้วยกระเบื้อง ผนังก่ออิฐฉาบปูน เป็นที่ตั้งรูปเคารพ และบริเวณโดยรอบของภูเขาถ้ำทะลุมีแหล่งน้ำลำห้วยไหลผ่านลอดใต้ถ้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี จากด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปออกทางด้านทิศเหนือ แล้วเลียบภูเขาด้านทิศตะวันออกไปยังทิศใต้ รวมกับแม่น้ำจากลำคลอง และลำห้วย เป็นแม่น้ำปัตตานี ไหลสู่ตัวเมืองเบตง (แหล่งน้ำที่ไหลผ่านมาจากต้นน้ำเทือกเขาสันกาลาคีรี ชายแดนไทย–มาเลเซีย) พบร่องรอยของเปลือกหอยที่ผนังจากการปรับพื้นที่ บริเวณเพิงผาถ้ำอากาศปลอดโปร่งและแสงแดดส่องถึง พร้อมร่มเงาต้นไม้ใหญ่ มีการกั้นตาข่ายเหล็กตลอดทางขึ้น และบนถ้ำ เพราะมีลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากโดยรอบ สำหรับการเดินทางไปยัง “แหล่งโบราณคดีเพิงผาเขาถ้ำทะลุ” ทำได้โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 จากตัวเมืองยะลามุ่งสู่อำเภอเบตง (ยะลา–เบตง) ก่อนถึงตัวเมืองเบตง แยกขวาไปตามถนนทางหลวงชนบท หมายเลข 5039 (ถนนมหามงคลเบตง–มาเลเซีย) ประมาณ 2 กิโลเมตร จะเจอภูเขาถ้ำทะลุอยู่ริมถนนทางด้านขวามือ เดินเท้าประมาณ 50 เมตร จะเห็นบันไดทางขึ้นเพิงผาเขาถ้ำทะลุ และที่พักสงฆ์ระหว่างทางขึ้น ปิดล้อมด้วยเหล็กตาข่ายกันลิงตลอดเส้นทาง โดยโบราณวัตถุที่พบ ประกอบด้วย ขวานหิน ลักษณะเป็นขวานหินขัด ไม่มีบ่า โครงร่างสี่เหลี่ยมคางหมูแคบเล็ก ส่วนปลายมีคมทั้งสองด้าน ขนาด กว้าง 4.5 ซ.ม. ยาว 10 ซม. หนา 2 ซม. และขวานหิน ลักษณะเป็นขวานหินขัดไม่มีบ่า เป็นแท่งหินยาวโครงร่างรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ปลายคมเป็นมุมฉากหรือเกือบฉาก รอยกะเทาะเหลืออยู่มาก คมลาดทั้งสองด้าน ขนาด กว้าง 5.5 ซม. ยาว 15 ซม. หนา 2.5 ซม. เธอบอกเล่าด้วยว่า จากการสัมภาษณ์สามเณรกำพล เกษราช ซึ่งเข้ามาพำนักพักแรมจนกลายเป็นสำนักสงฆ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ได้ทำการปรับพื้นที่บริเวณพื้นเพิงผาถ้ำ พบขวานหินจำนวน 2 ชิ้น ก่อนปรับพื้นที่พบเปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก แม้หลักฐานที่มีการค้นพบครั้งนี้อาจจะยังมีไม่มากนัก แต่ผลสำคัญที่ได้รับ คือ การประติดประต่อเรื่องราวยุคต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งวิถีชีวิต การทำมาหากิน ฯลฯ และรวมถึงเส้นทางการค้าโบราณนับเนื่องจากในอดีต ซึ่งส่งผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่แต่ละช่วงเวลา