ในอดีตที่ผ่าน ๆ มา ยามที่เกิดปรากฏการณ์ปัญหาใหญ่ ๆ ทางสังคม ผู้คนมักจะมองเห็นแต่ปัญหาทางเศรษฐกิจ-การเมือง การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนแนวทางแก้ปัญหาสังคม จึงจึงมุ่งไปทางด้านเศรษฐกิจ และ/หรือ การเมืองเป็นส่วนมาก แต่สังคมไทยเราก็พยายามแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ-การเมืองมาตลอด ผลคือยังคงเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ-สังคมอยู่เสมอคนทั่วไปมักคิดว่า เรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องหลักของสังคม เป็นตัวกำหนดกระแสเป็นไปของสังคมการแก้ไขปัญหาสังคม ต้องแก้ไขที่พื้นฐานหลัก พื้นฐานหลักในทัศนะของคนส่วนใหญ่ก็คือ การเมืองกับเศรษฐกิจแต่เราอยากสะกิดให้คนไทยคิดทบทวนดูว่า อะไรคือพื้นฐานหลักของสังคม อะไรคือตัวกำหนดกระแสความเป็นไปของสังคมปัญหารูปธรรมในแต่ละสังคมมีแตกต่างกัน มันเป็นเพราะอะไร ? ประเทศไทยใช้ระบอบเศรษฐกิจทุนนิยม หลาย ๆ ประเทศก็ใช้ระบอบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ปัญหารูปธรรมทางเศรษฐกิจในสังคมไทยกับสังคมประเทศอื่นก็แตกต่างกันมันน่าจะมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เป็นตัวกำหนดให้แตกต่างกันเราขอเสนอแนวคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของไทย แตกต่างกับประเทศอื่น ๆ นั้นคือเรื่อง “วัฒนธรรม” ปรากฏการณ์ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง เมื่อพิเคราะห์ให้ลึก ๆ แล้ว มีส่วนเกี่ยวพันกับ “วัฒนธรรม” หลายสังคมใช้การเมืองระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้งเสรีเหมือนกัน แต่ปัญหารูปธรรมของแต่ละประเทศกลับแตกต่างกันมาก ที่แตกต่างกันมาก เราคิดว่าเกิดจากด้านวัฒนธรรมปัญหาสังคมที่เป็นกระแสแรงเฉพาะหน้านี้ ยิ่งสนับสนุนแนวคิดข้างต้นโดยเฉพาะปัญหา “ธรรมกาย” ดูเหมือนเป็นปัญหาโยงใยกับการเมืองลากดึงกันไปถึงเรื่อง ประชาธิปไตย – เผด็จการ ฯ แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ลึก ก็จะพบว่า รากเหง้าปัญหาอยู่ที่ “วัฒนธรรมคนไทย” นั่นเอง งานวัฒนธรรมถูกมองข้าม ถูกละเลยมาตลอด ดังจะเห็นว่า งานสำคัญของรัฐที่ป่าวประกาศกันมาก คือ งานพัฒนาเศรษฐกิจ งานแก้ไขปัญหาความยากจน งานด้านความมั่นคงทางการเมือง เป็นต้น หากจะมีการชูธงด้านวัฒนธรรมอยู่บ้างก็อิงกับความต้องการเพิ่มยอดขายการท่องเที่ยว โดยนำด้านวัฒนธรรมมาใช้ ความพยายามแก้ไขวิกฤติการเมืองในทศวรรษที่ผ่านมา ก็เน้นแต่เรื่องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการเลือกตั้ง การลดทอนความเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจ ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญด้านการปฏิรูปวัฒนธรรมวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตจริงของผู้คน เป็นพื้นฐานของคติความเชื่อ , แนวคิด และวิธีคิดของคน ถ้าผู้คนไม่เปลี่ยนความคิด จะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสังคม ได้สำเร็จอย่างไร ? เราจึงเสนอให้สังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับงานวัฒนธรรมมากขึ้น