อยู่ดีๆกระทรวงทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มี "วราวุธ ศิลปอาชา" นั่งเป็นเจ้ากระทรวง ก็พลันเจอกับช่วงพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ทำเอาร้อนระอุ ยิ่งกว่าเกมซักฟอกในสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ก.ย.ไปอย่างถนัดใจ เมื่อมีรายการโยนระเบิดเข้าใส่กระทรวงทรัพย์ฯ ตูมใหญ่ โดยฝีมือของคนในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แทนที่จะเป็นการเขย่าจาก "พรรคฝ่ายค้าน" ก็กลับเป็นเรื่องที่ผิดคาด ส.ส.คนดังจากพรรคพลังประชารัฐ อย่าง "สิระ เจนจาคะ"ส.ส.กทม. รับเรื่องร้องทุกข์ที่รัฐสภาใหม่ เกียกกาย จาก นายสัตวแพทย์ ธีทัชฐ์ เกียรติลดารมย์ประธานสมาพันธ์รักผืนป่าแห่งประเทศไทย และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนพฤติกรรมของ "อธิบดีรายหนึ่ง" ที่เข้าไปพัวพันกับปมการทุจริตรวมทั้งยังมีการซื้อขายตำแหน่งระหว่างตัวอธิบดีกับรัฐมนตรี เป็นเงินสูงถึง 600 ล้านบาท ซึ่งรัฐมนตรีรับเงินไปแล้ว 300 ล้านบาท! อุณหภูมิที่กระทรวงทรัพย์ฯเดือดระอุขึ้นทันที โดยไม่ต้องรอข้ามวัน เพราะเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงวราวุธ รมว.ทรัพย์ฯ ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธทุกประเด็นอย่างสิ้นเชิง โดยย้ำว่า ไม่มีมูล ไม่มีความเป็นจริง ล่าสุด เรื่องร้อนๆ ลามไปถึง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ต้องลงมา "หย่าศึก" โดยหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ที่แน่ๆ ทั้งสองบิ๊ก ย้ำนัก ย้ำหนา ว่าไม่มีปัญหารอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน ! ปัญหาระหว่าง พรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังปีนเกลียวงัดข้อกันเช่นนี้ เมื่อคนของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งอดีตผู้สมัคร ส.ส. และ สิระ ที่มารับหนังสือร้องเรียน เปิดฉากถล่มรัฐมนตรี "เบอร์หนึ่ง" ของ "พรรคชาติไทยพัฒนา" อย่างวราวุธ ด้วยข้อหาร้ายแรง เกี่ยวกับเงินๆทองๆก้อนใหญ่ หลายร้อยล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาย่อมหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า แล้วเหตุใด จึงไม่พูดคุยกันเป็นการ "ภายใน" ในเมื่อทั้งพรรคพลังประชารัฐและชาติไทยพัฒนา ต่างเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งวราวุธ เองก็บอกว่าเขากับสิระ ต่างก็เดินสวนกันไป-มา ภายในสภาผู้แทนฯก็ไม่เห็นว่าจะมาพูดอะไรกับตนเอง เบื้องลึกเบื้องหลังของการโยนระเบิดเข้าใส่ วราวุธ รมว.ทรัพย์ฯด้วยคนของพรรคพลังประชารัฐจะมีมากหรือน้อยไปกว่าที่ตาเห็นและปรากฏเป็นข่าวสื่อก็ตามที แต่นาทีนี้ อย่าลืมว่าฝ่ายรัฐบาลเอง ยังมี"ศึกนอก" ที่รออยู่เบื้องหน้า ให้รับมือและสะสาง ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็ว อีกทั้งยังต้องมาเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลต้องเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงการรับมือกับเกมซักฟอก นายกฯกลางที่ประชุมสภาฯ ด้วยญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีการถวายสัตย์ฯ ศึกนอกที่ว่าหนัก อาจจะไม่เท่า"ศึกใน" ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เมื่อตัดสินใจลง "เรือเหล็ก" ลำเดียวกันแล้ว จะช่วยกันพายให้ถึงแล่นต่อไปด้วยราบรื่นมากที่สุด ได้อย่างไร !?