แสงไทย เค้าภูไทย
การปลดล็อกกัญชาและกัญชงออกจากการเป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 และอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในสินค้าต่างๆได้ มีข้อถกเถียง ในมุมกลับหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเอื้อประโยชน์ทุนใหญ่
บางคนมองว่า ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 30 ส.ค.ที่ผ่านมาที่เปลี่ยนสถานะกัญชาและกัญชงจากสารเสพติดประเภทที่ 5 มาเป็นประเภทที่ 3 จะทำให้มีการเข้มงวดการใช้สาร THC เข้มข้นกว่าเดิม
จนชาวบ้านนำไปทำยาหรือสินค้าตามที่ประกาศฉบับนี้เปิดทางให้ไม่ได้
ตรงกันข้าม กลับจะเป็นการล็อกสเป็กให้บริษัทขนาดใหญ่ ได้ประโยชน์ที่สามารถนำสารสกัดจากกัญชาและกัญชงไปผลิตสินค้าได้
ประกาศฉบับนี้ ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยให้ยกเลิกชื่อยาเสพติดประเภท 5 ลำดับ 1 คือ “กัญชา” และยาเสพติดประเภท 5 ลำดับ 5 คือ “กัญชง”
แม้จะไม่ระบุว่า กัญชาและกัญชงย้ายไปอยู่ในยาเสพติดประเภทใด แต่จากข้อความที่ว่า “มีลักษณะเป็นตำรับยา” ก็ตีความว่าเป็นประเภทที่ 3
ยาเสพติด 5 ประเภทได้แก่
ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอิน
ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไปเช่นมอร์ฟีน โคคาอีน โคเดอีน(ยาแก้ไอใช้ผสมกับกระท่อม ผงยาจุดกันยุง โค้กเป็น4x100)
ประเภทที่ 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดประเภทที่ 2 รวมอยู่ด้วย
ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ในกาารผลิยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติคคลอไรด์เป็นต้น
ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 4 เช่นกัญชา กระท่อม
ประเด็นปัญหาอยู่ที่ข้อความว่า “กัญชงที่ปลูกได้ให้มี THC ไม่เกิน 1% ของน้ำหนักใบและดอกแห้ง และพันธุ์พืชที่มี THC ไม่เกิน 1% ของน้ำหนักแห้ง” เดิมนั้น
ตอนนั้นไม่มีใครทักท้วงว่ากระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนกฎกติกาของคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ (INCB) แต่ประการใด
แต่ประกาศเมื่อ 30 สิงหาคม 2562 ของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 กลับเข้มงวดกว่าเดิม
จากที่กำหนดว่ากัญชงที่ปลูกได้ให้มี THC อันเป็นสารที่ทำให้เมาและออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทรุนแรงไม่เกิน 1% ของน้ำหนักแห้งของใบและดอกนั้น
ประกาศฉบับใหม่กลับลดลงเหลือไม่เกิน 0.5%
ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่จะปลูก จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์กัญชงที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช อันเป็นพันธุ์ที่ใบและดอกแห้งให้สาร THC ไม่เกิน 0.3% เท่านั้น โดยอ้างตามมาตรฐานยุโรป
ส่วนสาร CBD( cannabidiol) ที่มีผลต่อการรักษาอาการป่วยแต่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทไม่รุนแรง ไม่ทำให้เมาเหมือน THC นั้น จะต้องเป็นสารสกัด 99% และมีปริมาณ THC ผสมไม่เกิน 0.1%
สำหรับกัญชาในตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ กำหนดให้มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ได้ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักและต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ทางยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเท่านั้น
แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกจะนำกัญชาไปใช้ก็จะถูกกรอบกำหนดนี้ครอบจนอาจจะปฏิบัติตามไม่ได้
เพราะการจะต้องใช้กัญชาที่มีสัดส่วนสาร CBD สาร THCเท่านั้นเปอร์เซ็น เท่านี้เปอร์เซ็นต์ จะต้องสกัดสารพวกนี้ออกมาจากกัญชาหรือกัญชงก่อนแล้วนำมาเข้าตำรับ
ในวิถีการแพทย์แแผนไทยหรือแผนโบราณนั้น มีการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพรก็จริง แต่เป็นแบบพื้นบ้าน เช่นต้ม (สกัดด้วยน้ำ) สกัดด้วยแอลกอฮอล์(ดอง) สกัดด้วยน้ำมัน(หุง) ฯลฯ
เป็นลักษณะสกัดหยาบได้สารออกมาในรูปสารสกัดหยาบ (crude drug) ไม่บริสุทธิ์ 99% ตามที่ระบุในประกาศ
ยังมีสารอื่นๆที่อยู่ในสมุนไพรนั้นติดออกมาอีกหลายตัว เช่น กัม(gum) ยาง(resin) วุ้น(agar) เยื่อเส้นใย(cellulose) แป้ง แอลคาลอยด์ น้ำมันหอมระเหย ฯลฯ รวมแล้ว 4 กลุ่ม จึงไม่ใช่สารบริสุทธิ์ตัวเดียวเดี่ยวๆ
กัญชากับกัญชงเป็นพืชตระกูลเดียวกัน( Cannabaceae)แต่ต่างกันที่จีนัส คือกัญชา Cannabis sativa L.var.indica กัญชง คือ Cannabis sativa L.var.sativa
การที่เป็นพืชตระกูลเดียวกัน ทำให้พืชทั้งสองมีสารสำคัญคล้ายคลึงกัน ต่างกันก็แต่สัดส่วนเท่านั้น
กัญชานั้น ใช้ช่อดอก (กะหรี่กัญชา) นิยมใช้สุูบ เช่นเดียวกันกับในประเทศอื่นๆที่เปิดกัชาเสรี กะหรี่กัญชาให้สารสำคัญมากที่สุดคือ THC ให้ CBD บ้าง แต่น้อย
สาร THC ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทรุนแรง เสพไม่มากทำให้เคลิบเครี้ม แต่ถ้ามากก็ทำให้เมา หรือ “get high” มีอาการปากแห้ง คอแห้งกระหายน้ำ ต้องการกินของหวานๆ หัวใจเต้นเร็ว ตอบสนองช้า ตาแดง หรือความทรงจำลดลง
กัญชาสายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดจากการผสมเพื่อให้ได้สารสำคัญตามต้องการ มีสัดส่วนของ THC ต่อ CBD 5 ระดับคือ จาก 1:1, 2:1,4:1,8:1 และ 18:1
สำหรับกัญชงที่ให้สาร CBD มากกว่ากัญชานั้น ชอบที่สูงและอุณหภูมิต่ำ คือบนยอดเขาที่มีความชื้นสูง อากาศเย็น
ถ้านำมาปลูกในที่ชื้น ฝนชุก อากาศร้อนอย่างภาคใต้ หรือแล้ง อากาศแห้ง แบบอิสาน ก็จะให้สารสำคัญต่ำ
ลำต้น เปลือกต้นของกัญชงให้เส้นใช้ทำสิ่งทอ จนถือเป็นพืชเศรษฐกิจมากกว่าการเป็นยาเสพติด
กัญชงมีสาร CBD มากในเมล็ด มีสัดส่วน THC อยู่เล็กน้อยคือราว 0.14- 0.4% จนถึง 20 ต่อ 1 นำมาสูบแล้วไม่เมา คนไทยจึงไม่นิยมใช้แบบสูบ
ในเมล็ดกัญชง นอกจากสาร CBD แล้ว ยังมีน้ำมัน Omega-3, Omega-6 และ GLA มาก
นี่เองที่เปิดช่องให้ประกาศกระทรวงฯฉบับนี้เปิดให้มีการนำสารสกัดจากกัญชงและกัญชาไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางได้
หมอพื้นบ้านหรือแม้แต่แพทย์แผนไทยที่ไหนจะมีปัญญาสกัดสารบริสุทธิ 99%จากเมล็ดกัญชงได้เหมือนบริษัททุนใหญ่ได้
แบบนี้ ไม่เอื้อนายทุนแล้วจะให้เรียกว่าอะไร ?