เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ไฟไหม้ป่าอะเมซอน ที่บราซิล เป็นเรื่องระดับโลก ที่บรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ G7 ยังต้องเสนอช่วยเหลือ เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก ต่ออากาศ อุณหภูมิ และอื่นๆ
ป่าอะเมซอนมีอาณาบริเวณอยู่ประมาณ 5,000 ล้านไร่ หรือ 7 ล้านตารางกิโลเมตร ประมาณ 14 เท่าของประเทศไทย ร้อยละ 60 อยู่ในบราซิล ที่เหลืออยู่ในเปรู โคลอมเบีย เวเนซูเอลา เอควาดอร์ กียานา ซูรินัม และกีเนียฝรั่งเศส
ป่าอะมซอนถือเป็นปอดของโลกก็ว่าได้ คิดเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของป่าร้อนชื้นของโลก มีต้นไม้กว่า 390,000 ล้านต้น 16,000 ชนิด มีแมลงอยู่ 2.5 ล้านชนิด นกกว่า 2,000 ชนิด ปลา 2,000 ชนิด และความหลากหลายทางชีวภาพเหลือคณานับ
ถึงปี 2018 ประมาณร้อยละ 17 ของป่าอะเมซอนถูกทำลายโดยมนุษย์ที่ทำการเกษตร เหมืองแร่ ตัดไม้ และอื่นๆ ประมาณกันว่า ภายในปี 2030 หนึ่งในสี่ของป่าอะเมซอนจะถูกทำลาย
บราซิลมีประชากร 211 ล้าน ร้อยละ 87.4 อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเต็มไปด้วย “ชุมชนแออัด” แต่ก็มีจำนวนหนึ่งซึ่งยังอาศัยอยู่ในชนบท โดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ที่ยังเหลืออยู่
นายบอลซานาโร ประธานาธิบดีของบราซิล ถูกกล่าวหาว่ามีนโยบายที่ทำให้เกิดการรุกป่าอะเมซอน และทำให้เกิดไฟป่า เพราะมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า และไปจำกัดสิทธิของคนพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของผืนดินในป่ามาเป็นพันๆ ปี
แม้ในเบื้องต้นเขาจะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อประเทศ G7 ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ กล่าวหาว่าเป็นพวกล่าอาณานิคม แต่ที่สุดก็ต้องยอม เพราะถูกขู่เรื่องการบอยคอตการค้าและผลประโยชน์อื่นๆ
ไม่มีประเทศในโลกที่สามารถอ้างว่า หลายเรื่องในประเทศของตนคนอื่นห้ามยุ่ง อย่างเรื่องไฟป่าอะเมซอน เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องที่ไทยเราโดนมา คือ เรื่องค้ามนุษย์ เรื่องเรือประมง ซึ่งหลายคนก็งง แต่ก็ควรหายงง เพราะถ้าไม่แก้ไข ประเทศอียูก็จะไม่ซื้ออาหารทะเลจากไทย
ถ้าเข้าใจคำว่า “โลกาภิวัตน์” (ที่ดูเหมือนหายไปจากสารบบภาษาไปพักหนึ่ง) ก็จะเข้าใจว่า วันนี้ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน ทุกประเทศเกี่ยวข้องกันหมด เพราะการซื้อการขาย การไปมาหาสู่ การลงทุนข้ามชาติ ความร่วมมือในโครงการและกิจการต่างๆ
แต่กระนั้น เมื่อเป็นเรื่องผลประโยชน์ ผู้นำประเทศ นักการเมือง นักธุรกิจ ก็มักจะทำให้ผู้คนมองอะไรแคบๆ แบบแยกส่วน ไม่เห็นว่าทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน อย่างที่นายทรัมป์ ประนาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ปฏิเสธรับรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม หาว่าเป็นเรื่องหลอกกัน ความจริง ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้หรือไม่เชื่อ เพียงแต่เมื่อมันไปขัดผลประโยชน์ทางการเมือง เขาก็ทำเป็นมองข้ามไปเสีย
ดังกรณีนโยบายการพัฒนาประเทศของบ้านเรา มีมองข้ามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสภาพสังคมของประชาชนในพื้นที่ ทั้งๆ ที่รู้ดีว่ามีผลกระทบ มองเห็น “จีดีพี” หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจมีค่ามากกว่า “ชีวิต” ของคน สารเคมีที่เป็นพิษจึงยังคงอยู่และต้องสู้กันไปอีกหลายยก
หนังสือ “เล็กนั้นงาม” (Small is Beautiful) ของอี เอฟ ซูมาเคอร์ เป็นหนังสือที่ผู้คนทั่วโลกชื่นชม และเห็นด้วยในแนวคิดที่เขาเสนอในหนังสือเล่มเล็กๆ นี้ว่า ควรพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ “เห็นความสำคัญของคน” (Small is Beautiful : Economic as if People Mattered)
สหประชาชาตินิยามการพัฒนายั่งยืนที่สรุปได้อย่างง่ายว่า เป็นการพัฒนาที่มีอะไรเหลือไว้ให้ลูกหลานได้อยู่ดีกินดีด้วย ไม่ใช่ใช้เองกินเองจนไม่เหลืออะไรอย่างที่กำลังทำกัน
อยากเสนอรัฐบาลไทยให้ทำนโยบายปลูกป่าอย่างเป็นรูปธรรม จากที่อ่านในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีก็ดูเหมือนดี แต่ไม่รู้ว่ามีแผนงานที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง โดยเฉพาะแผนที่มีลักษณะ “บูรณาการ”
ถ้าหากไม่มีแยกส่วน แผนการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อมย่อมไปด้วยกัน ทำอย่างไรให้แก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง มีน้ำใช้เพื่อการบริโค การเกษตรตลอดปี เช่น นอกจากการทำเขื่อน แก้มลิง การฟื้นฟูแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ทำอย่างไรจึงจะให้มีการปลูกต้นไม้สัก 1,000-2,000 ล้านต้นในเวลา 20 ปี
กรมป่าไม้คนเดียวคงทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นวาระแห่งชาติ ทำงานแบบบูรณาการจริงๆ เป็นความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ การปลูกป่าปีละ 50-100 ล้านต้น ก็เป็นไปได้ โดยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ ที่เกิด ”สำนึกประชารัฐ” ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้ดินดี น้ำดี อากาศดี คุณภาพชีวิตดี
จัดการน้ำบนดินและใต้ดินอย่างเดียวคงไม่พอ ถ้าไม่ส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ไปพร้อมกัน ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ส่งเสริมการปลูกไม้ใหญ่ที่จะให้ผลอีกหลายสิบปี อย่างไม้ยางนา สัก พยุง ชิงชัน สาธร กระพี้เขาควาย มะเกลือ มะค่า ประดู่ และอื่นๆ ซึ่งเกือบจะหมดป่าประเทศไทยไปแล้ว
การปลูกไม้เป็นการให้ชีวิต คนที่มีสำนึกดีขั้นเทพจะลงมือทำให้เกิดความอุมสมบูรณ์ ดังกวีของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ที่ว่า “ดึกนี้เศรษฐีตื่นล้ว สำรวจแก้วมณีในสวรรค์ ล้วนสมบัติฉันทั้งนั้น ชื่อแจ่มจันทร์และดวงดาว ปลูกมิ่งไม้ไว้หลายภูผา สั่งฟ้าอุ้มฝนจนเต็มที่ ไว้รดอุทยานแรมปี ให้เขียวขจีทั้งไพรวัน”
บทกวีนี้เขียนติดไว้ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งในสวนวนเกษตร 9 ไร่ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีพืชอยู่ 450 ชนิด นกกว่า 50 ชนิด และความหลากหลายทางชีวภาพอีกนับไม่ถ้วน อุณหภูมิต่ำกว่าภายนอกสวน 2-3 องศา นี่เพียงคนเดียวคิดและทำจริง ถ้าเป็นสำนึกของคนไทยทั้งชาติจะเกิดอะไรขึ้น