ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์ที่สังคมไทยจับจ้อง เมื่อบรรดาผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาล กลับต้องเป็นฝ่ายไปชี้แจงต่อศาลเสียเอง ไล่มาตั้งแต่กรณีของ นายโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ บิดาของนายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรรายการทีวีชื่อดัง ได้รับหนังสือจากนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 เชิญไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ หลังเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 นายโกวิท ทวีตข้อความ “เกินคำว่าด้าน” ผ่านทวิตเตอร์ kovitw@kovitw1 กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ต่อมานางสาวสฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการ ได้รับหมายเรียกจากศาลฎีกา โดยนายสุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการในแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ระบุว่า “นางสาวสฤณีได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 พ.ค. 2562 เรื่อง” อันตรายภาวะนิติศาสตร์ล้นเกิน ( อีกที ) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัครส.ส.” ซึ่งเลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เห็นว่า บางตอนมีการใช้ถ้อยคำไม่เป็นความจริงและกล่าวหาศาล จึงเห็นว่าศาลควรไต่สวนเรื่องดังกล่าว เรื่องละเมิดอำนาจศาลนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักนิติศาสตร์ที่จะทำความเข้าใจ ต่อเมื่อนักนิติศาสตร์สวมหัวโขนเป็นนักการเมืองเสียแล้ว กลับเข้าใจยากหรือแสร้งว่าไม่เข้าใจ และยังสร้างเข้าใจที่สับสนให้กับสังคมอีด้วย โดยอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จะมีแต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่เป็นเรื่องใหม่ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์หรือทำลายความชอบธรรมด้วยคดีที่ตัดสินนั้นเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในสงครามสีเสื้อ ดังนั้น จะวางเฉยอยู่อย่างนี้คงไม่ได้แน่ เพราะมีแต่จะถูกบั่นทอน และในบางครั้งยังถูกคุกคามด้วย ปัจจุบันจึงมีกฎหมายคุ้มครองแล้ว โดย พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2561 แล้ว จากเอกสารชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “การวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือบทบัญญัติของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 38 วรรคสามโดยการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นจะต้องกระทำโดยสุจริต และมิได้ใช้ถ้อยคำ หรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรือ อาฆาตมาดร้าย ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ด้วยทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาลหรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล กรณีมีความจำเป็นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกคำสั่งให้บุคคลใดกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และรวดเร็ว ตลอดจนมีอำนาจในการออกข้อกำหนดหรือคำสั่งเพื่อให้กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือข้อกำหนดดังกล่าวให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจของศาลซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง(3) การบังคับใช้บทบัญญัติละเมิดอำนาจศาลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่กรณีและให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินต่อไปได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในบริเวณศาลและนอกศาลและป้องกันการประวิงคดีและการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่เกินขอบเขตและไม่สุจริต ทั้งนี้ศาลจะใช้ตามความจำเป็นเพื่อให้อำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม” ดังนั้น ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปโดยสุจริต มิได้ใช้ถ้อยคำ หรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรือ อาฆาตมาดร้าย หากเข้าใจดังนี้สังคมก็จะสงบสุข