แสงไทย เค้าภูไทย
ปฏิบัติการบุกค้นวัดพระธรรมกายเพื่อนำพระธัมมชโยมาดำเนินคดี เป็นสิ่งที่แสดงถึง จุดอ่อนและช่องว่างของสังคมไทยที่มีมีการนำคำสอนของพระพุทธเจ้าบิดเบือน สร้างนิกายใหม่ จูงใจให้มีการทำบุญ รูปแบบใหม่ๆกันไม่รู้จบ
จึงมีคำถามว่า ยังจะมีนิกายหรือลัทธิ หรือคำสอนใหม่ๆที่จูงใจคนไทยให้ออกนอกสัมมาปฏิปทาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกไหม ?
เมื่อดูตามประวัติศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและความเชื่อแล้ว ยังเชื่อว่า จะมีลัทธิ มีนิกายใหม่ๆที่แฝงมาในรูปของการปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่อีก
เมืองไทยเป็นเมืองบ้าบุญ เชื่อว่ายังจะมีนิกายเกิดใหม่ขายความเชื่อ ขายการเข้าถึงพระธรรมที่บิดเบือนให้เข้าถึงได้ง่ายเกิดขึ้นอีก
ศาสนาพุทธมีนิกายหลักๆ 3 นิกายคือ นิกายหีนยานหรือเถรวาทที่บ้านเรานับถือกันอยู่ นิกายมหายานสายจีนและนิกายวัชรยานสายธิเบต
แต่ที่สำนักพุทธศาสนาในกรมการศาสนา กำหนดไว้มีเพียง 4 นิกายหลัก คือมหานิกาย ธรรมยุตนิกาย จีนนิกาย อนัมนิกาย นิกายวัชรยานและนิกายนิชิเรน
การที่ศาสนาพุทธของไทยมีมากมายหลายนิกายก็เพราะ มีการตีความในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าผิดแผกแตกต่างกันไป
ทำให้ต้องมีการสังคายนาพระไตรปิฎกกัน เป็นระยะๆหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
ในช่วงพุทธกาลไม่มีการสังคายนา เพราะพระพุทธองค์และพระอัครสาวกยังมีชนม์ชีพอยู่สามารถอธิบายและตีความได้
แต่เมื่อสิ้นพุทธกาล บรรดาพระอัครสาวกพากันปรินิพพานตามเสด็จ การตีความในพระไตรปิฎกอันเป็นพระคัมภีร์คำสอนของพระพุทธองค์ที่สูงที่สุดก็มักจะผิดเพี้ยนไป ทำให้ต้องสังคายนากันใหม่
แต่กระนั้นก็ยังมีการบิดเบือน ยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง
อย่างนิกายวัชรยานที่เกิดจากกลุ่มที่ไม่ยอมรับพระไตรปิฎกฉบับสังคายนาครั้งที่ 2 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-10 เป็นต้น
การแตกแยกทางความคิดนี้ นิกายมหายานมีมาตลอด
จนถึงวันนี้ ก็มีนิกายฝ่าหลุนกงที่ถูกรัฐบาลจีนปราบเสียราบคาบ ต้องย้ายไปอยู่อเมริกา
เหตุเพราะใช้ศาสนาพ่วงการเมือง มีสาวกนับเป็นล้านๆคน เมื่อถูกทางการกดดันมิให้ทำกิจกรรมที่ส่อไปทางยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล
ก็พากันยกขบวนไปปิดล้อมสถานที่ทำการรัฐบาล
เหมือนกับการปิดล้อม ยึดกระทรวง ยึดศูนย์ราชการบ้านเรา
ฝ่าหลุนกงนั้น หลี่หงจื้อ อาศัยช่วงเกิดปั่นป่วนไปทั่วจีนจากการปฏิวัติวัฒนธรรม อ้างว่าบัตรประชาชนหาย อาศัยความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ทำบัตร แจ้งวันเกิดตรงกับวันประสูติของพระพุทธเจ้า คือวันวิสาขะบูชา แล้วนำไปตีขลุมว่าตนเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ตรงกับพุทธทำนาย
หลักคำสอนของฝ่าหลุนกงอิงพระธรรมของพระพุทธเจ้า มุ่งที่การบรรลุธรรมด้วยการฝึกท่ารำฝ่าหลุนกงที่ดัดแปลงมาจากท่าออกกำลังกายจี้กงและท่าร่ายรำพื้นบ้านของไทย
เมื่อฝึกไปนาน ๆ ผู้ฝึกจะเข้าภวังค์สะกดจิตตัวเอง ว่าได้กายทิพย์ที่เรียกว่าธรรมกาย สำคัญตัวว่าเป็นเทพ
ต่างจากธรรมกายบ้านเราก็ตรงที่ ฝ่าหลุนกงจะเป็นธรรมจักรบังเกิดขึ้นที่ท้องน้อย ส่วนธรรมกายเป็นดวงแก้วเกิดขึ้นที่หว่างกลางอก
ส่วนที่เหมือนกันก็คือ การขายบุญ ซึ่งมีการตรวจสอบบัญชีการเงินพบว่า ฝ่าหลุนกง ทำการฝึก อบรมขายวีดิโอเทปและคำสอนให้สาวกนำไปฝึก ไปปฏิบัติ ได้เงินถึง 3.886 ล้านหยวน
เมื่อถูกทางการจีนปราบหนักๆ ผู้นำหรือศาสดา ก็ย้ายไปอยู่อเมริกา
อเมริกากลายเป็นแหล่งพักพิง ลี้ภัยของพวกที่ทำผิดบิดเบือนศีลวัตร บิดเบือนพระธรรม ขายศรัทธา หาเงินเข้าวัดเข้ากระเป๋าผู้นำลัทธิจนร่ำรวย
อดีตนักบวชไทย ที่เป็นรุ่นพี่ลี้ภัยอยู่ในอเมริกาของหลี่หงจื้อ บางคนมีรถหรู มีเรือยอทช์ มีคฤหาสน์(วัด)ริมทะเลสาปฯลฯ
นักบวชเหล่านี้ บางส่วนเข้าข่ายอลัชชี
เคยมีการชำระอลัชชีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
ในช่วงกรุงศรีอยุธยาแตก กว่าพระเจ้าตากสินจะกอบกู้บ้านเมืองได้ ตั้งราชธานีกรุงธนบุรีเป็นปึกแผ่นได้ก็หลายปี
ช่วงบ้านเมืองระส่ำระสาย พระสงฆ์ที่ประพฤตินอกรีตนอกรอย เกิดขึ้นเกลื่อนกลาด
เมื่อทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว ได้ทรงชำระสะสางวงการศาสนาใหม่ ลงโทษสมณะที่กระทำความชั่วอันไม่สมกับความเป็นสมณะ ด้วยวิธีการต่าง ๆ
เรียกว่าชำระอลัชชีได้ตัวผู้ทำผิดไม่ตั้งอยู่ในศีลวัตร ถึง 1,100 องค์
จึงถูกจับสึก พวกที่ก่ออาญาก็ถูกลงโทษด้วยการโบยและห้ามกลับเข้ามาบวชใหม่อีก
ประชากรไทยในยุคกรุงธนบุรี มีไม่ถึงล้านคน จำนวนอลัชชี 1,100 คน จึงถือว่ามากนักหนา คือราว 10% เทียบกับปัจจุบันนี้ก็ตกราว หมื่นกว่าคน
การทีอลัชชีมีมากนั้น เหตุหนึ่งเพราะการเป็นพระสงฆ์ของคนไทย เป็นกันง่าย
เนื่องจากมีการจำแนกรูปแบบการเป็นพระสงฆ์ไว้หลายรูปแบบ เป็นทางเลือกที่หลากหลาย
สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำรวจจำนวนพระสงฆ์และสามเณร เมื่อปี 2555 มีจำนวน 355,295 รูป แบ่งกลุ่มผู้บวชตามวัตถุประสงค์ใหญ่ๆได้ 2 กลุ่ม
คือกลุ่มบวชสั้น ได้แก่บวชตามประเพณีมีอยู่ราว 43.5% บวชอุทิศสวนกุศล 13.0%
ส่วนกลุ่มบวชยาวคือบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย 25.0% บวชเพื่อสืบทอดพระศาสนา 7..1% บวชเพื่อดำรงชีวิต 6.3% และบวชเพราะศรัทธาในพระศาสนา 5.1%
จำนวนวัดในประเทศไทยจากข้อมูลของสำนักพุทธฯปี 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 33,902 วัด
เป็นวัดมหานิกาย 31,890 วัด วัดธรรมยุตนิกาย 1,9876 วัด เป็นวัด จีนนิกาย 12 วัดอานัมนิกาย 13 วัด
จำนวนพระสงฆ์มากกว่าจำนวนวัดกว่า 10 เท่าตัว เฉลี่ยแล้ว น่าจะมีพระอยู่ประจำวัดละ 10 รูป
แต่กลับปรากฏว่า มีแค่ 9.42% ของจำนวนวัดทั้งหมดเท่านั้น ที่มีพระสงฆ์อยู่ (ปี 2547 เป็นปีฐาน จำนวน 33,902 วัด = 100%)
จำนวนวัดใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 344 วัดโดยเฉลี่ย จากปี 2555 มาถึง 2559 น่าจะมีวัดเพิ่ม 1,376 วัด รวมเป็น 356,671 วัด
จำนวนประชากรไทยปี 2559 มีจำนวน 66 ล้านคน เฉลี่ย 185 คนใช้บริการ 1 วัด
มากไปไหม?
ยิ่งจากสถิติวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ มีอยู่แค่ 9.42% หรือ 32,563 วัด
ที่เหลือ 323,107 วัด มีสถานภาพเป็นอะไร ?