รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ตามทฤษฎีการปกครองระบอบประชาธิปไตย “การเลือกตั้ง” ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการ “เข้าสู่อำนาจ” ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การเลือกตั้งเป็นกลไลที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นการมอบอำนาจอธิปไตยของประชาชนให้กับตัวแทนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่แทนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดไว้
ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเปรียบเสมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในการเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ด้วยการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ความสำคัญของการเลือกตั้งในทางทฤษฎีที่เป็นไปตามนัยแห่ง “ทฤษฎีประชาธิปไตยแบบคลาสสิค” (Classical Democratic Theory) นั้น บ่งบอกให้เห็นว่า การเลือกตั้งเป็น “การเลือกรัฐบาลที่จะเข้ามาปกครองประเทศ” และเป็น “รากฐานของประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งตัวแทน” (Representative Democracy) อย่างชัดเจน..!!
เมื่อได้มาซึ่ง “รัฐบาล” ก็จำเป็นต้องมีการควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ คงไม่มีใครกล้าปฏิสธว่าหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น ก็คือ “การอภิปราย” เนื่องจากในเชิงทฤษฎีการอภิปราย ถือเป็นกิจกรรมที่ใช้ในการควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ คงตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประโยชน์ที่ได้รับจากการอภิปราย คือ ทำให้ประชาชนได้รับรู้ “ข้อมูล” ซึ่งจะนำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจในประเด็นที่มีการอภิปราย
อย่างไรก็ตามแม้การอภิปรายจะเป็น “ประเพณีทางการเมือง” ซึ่งอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย แต่การที่สังคมไทยห่างหายจากการอภิปรายมาอย่างยาวนาน ทำให้การยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม กรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนไม่น้อย
ภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของความสนใจของประชาชน คงหนีไม่พ้นการสำรวจความคิดเห็นของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตประเด็น “ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์” สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,184 คน ทำให้พบประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประชาชนคิดว่าฝ่ายค้านมีเหตุผลเพียงพอต่อการยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ กรณี การถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนหรือไม่? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 77.20 คือ มีเหตุผลเพียงพอ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนจริง ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่เหมาะสม ควรแก้ไขให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ มีเหตุผลไม่เพียงพอ ร้อยละ 22.80 เพราะ อยากให้สนใจเรื่องการบริหารบ้านเมือง การแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชนมากกว่า เป็นการจ้องจับผิด หาเรื่องรัฐบาล เสียเวลา ฯลฯ
ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่? ที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 66.72 คือ เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ นายกฯควรชี้แจงอย่างเป็นทางการ อยากรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง เป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่สามารถกระทำได้ ฯลฯ
รองลงมา ได้แก่ ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 18.67 เพราะ อาจกลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้ง ไม่เกิดผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองให้แย่ลง ฯลฯ และไม่แน่ใจ ร้อยละ14.61 เพราะเป็นประเด็นล่อแหลม ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบ ปัญหายังคงยืดเยื้อบานปลาย ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านยังคงออกมาตอบโต้กันไปมา ฯลฯ
ผลการสำรวจข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ณ วันนี้ สังคมไทยเปิดกว้างต่อการยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม แต่ถ้าต้องการอภิปรายได้ตรงความต้องการของประชาชน ก็จำเป็นต้อง “ชายตาดู...เปิดหูฟัง” เสียงจากประชาชนบ้าง
สิ่งที่ฝากบอกว่ารัฐบาลมากที่สุด ร้อยละ 46.75 คือ การต้องการให้ตอบคำถาม การชี้แจง ต้องชัดเจนตรงประเด็น รองลงมา ได้แก่ ตั้งใจรับฟังอย่างมีสติ มีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ไม่วู่วาม ร้อยละ 34.15 ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด รักษาสัญญา บริหารบ้านเมืองตามนโยบาย ร้อยละ 18.29 เข้าร่วมประชุม ปฏิบัติตามกฎระเบียบในที่ประชุม ร้อยละ 13.82 และมีการเตรียมตัวที่ดี เตรียมข้อมูล เอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วน ร้อยละ10.16
ขณะที่สิ่งที่ฝากบอกว่าฝ่ายค้านมากที่สุด ร้อยละ 31.38 คือ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี สุภาพ รองลงมา ได้แก่ เน้นเรื่องการทำงาน การดูแลประชาชน นึกถึงประโยชน์ของส่วนรวม ร้อยละ 28.87 เป็นฝ่ายค้านที่ดี เคารพกติกา ไม่ละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับ ร้อยละ 26.36 รักษาเวลา ไม่ยืดเยื้อ พูดให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ร้อยละ 19.67 และมีข้อมูล หลักฐานที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ ร้อยละ 15.06
“อภิปราย” แม้เชิงทฤษฎีจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่หากไม่มีปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ตรงตามความต้องการของประชาชนแล้ว ซ้ำร้ายหากยังไม่สามารถก้าวผ่านภาพลักษณ์เดิมเดิมของการอภิปรายที่เต็มไปการประท้วง การฟาดฟันกันด้วยคำพูด หรือแม้แต่กริยาที่ไม่เหมาะสมของนักการเมืองทั้งหลาย ย่อมทำให้การอภิปรายแบบไทยไทย ยังคงเป็นการอภิปรายแบบซ้ำซากจำเจ...
ไม่ว่าจะผ่านไปนานเพียงใด?..ก็คงยากแสนยากที่จะเป็นการอภิปรายซึ่ง “ถูกใจ” ประชาชน..!!