ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกระทรวงอุดมศึกษาฯ ในการสร้างคนไว้รองรับธุรกิจแห่งอนาคต โดยเฉพาะเป็นการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้าน BCG เป็นพิเศษ จากการที่ดร.สมคิด ประธานซูเปอร์บอร์ดได้อนุมัติวงเงินวิจัยและนวัตกรรมเป็น 1.2% ของ GDP
ย้อนกลับไปในอดีตหลายปี การวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นการวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ จึงเป็นการวิจัยที่ขึ้นหิ้งเสียมากกว่าขึ้นห้างเป็นจำนวนมากกว่า 90% งบวิจัยปี 2016 พบว่า ยังมีแค่ 0.78% เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรต 0.96 รัสเซีย 1.10 มาเลเซียน (2015) 1.30 จีน 2.11 อเมริกา 2.74 เยอรมัน 2.94 ญี่ปุ่น 3.4 เกาหลีใต้ 4.23 และอิสราเอล 4.25% ของ GDP
แต่ขณะที่ยังเป็นกระทรวงเดิมอยู่ ได้ลงทุนขยับขึ้นมา 1.0% ในปี 2560 โดยแบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐและเอกชน นับว่ากระเดื้องขึ้น แต่นวัตกรรมยังไม่เห็นผลว่าจะเพิ่มตามการลงทุนด้วยการวิจัยและพัฒนาหรือไม่
จะเห็นว่างบประมาณด้านการวิจัยของไทยยังน้อยกว่า ประเทศที่มีนวัตกรรมอีกมาก งบงานวิจัยที่ให้มหาวิทยาลัยไปเป็นเพียงงบประมาณเบี้ยหัวแตก วิจัยแล้วเอาไปทำอะไรไม่ได้มานานหลายปี จนประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้เขาก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปไกลมาก
เมื่อกระทรวงอ.ว.เข้ามาอยู่ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ รัฐได้เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะอยากเห็นการเกิดนวัตกรรมมาแทนที่ งานวิจัยขึ้นหิ้ง โดยตั้งงบให้ 1.2% ต่อ GDP หรือประมาณ 212,340 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐ 25% หรือประมาณ 53,085 ล้านบาท และการลงทุนจากภาคเอกชน 75% หรือประมาณ 159,255 ล้านบาท รวมถึงงบด้านวิทยาศาสตร์ไว้อีก 37,000 ล้านบาท
เห็นตัวเลขงบประมาณแล้วพอใจชื้นขึ้นบ้างว่า รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับนวัตกรรม ซึ่งจะแบ่งให้มหาวิทยาลัยเก่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ไปสร้างนวัตกรรมที่แตกต่างกัน ต่างคนต่างเน้นกันคนละอย่าง เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน
กระทรวงอ.ว. มีแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่ในมือ สามารถนำมาแยกแยะและบูรณาการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยทั้ง 3 ภาคส่วนดำเนินการ โดยแทนที่จะให้งบวิจัยเป็นปีๆ อาจนำไปสู่การให้งบประมาณ 3 ปี หรือมากกว่าเพื่อวิจัยต่อยอดให้เป็นนวัตกรรม เป็นต้น แผนที่จะนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งอาจจะต้องปรับกระบวนการและเพื่อหาของงานวิจัย และนักวิจัยให้มีอิสระในการทำงาน อาจไม่ต้องพึ่งพิงกับการสอนมากเกินไป และทำวิจัยขั้นพื้นฐานซึ่งไม่ได้อะไรนอกจากจะใช้งบประมาณให้หมดไปแต่ละปี
กระทรวงอ.ว. ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะเน้นอะไร หากเป็น BCG Action คงต้องแบ่งให้แต่ละมหาวิทยาลัยเขาทำ เช่น มหาวทิยาลัยเก่า อาจทำเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ มหาวิทยาลัยอื่นอาจต้องรับด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น
ผมเห็นว่างานวิจัยเชิงนวัตกรรมมีความสำคัญยิ่ง มหาวิทยาลัยใดไม่มีหัวข้อที่ชัดเจน ไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ก็ไม่อาจให้งบประมาณไปจัดทำ อยากจะเห็นการเน้นให้เกิดนวัตกรรมที่แท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้สร้างนวัตกรรมกับเขาบ้าง