รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ณ วันนี้ แม้จะไม่มีการใช้ ม.44...แม้จะไม่มีการปักหลักรวมตัวกันชุมนุมประท้วง และเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องทางการเมืองในสถานที่ต่างๆ...หรือแม้ว่าจะมีความขัดแย้งทางแนวคิดทางการเมือง แต่ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านสภาฯ เป็นหลักก็ตาม แต่หากพิจารณาจากกระแสข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องแล้ว คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า การเมืองไทย ณ วันนี้ มีสภาพไม่ต่างอะไรกับ “น้ำนิ่งไหลลึก” ใช่ว่าเป็น “น้ำนิ่งไหลเอื่อย” อย่างที่เห็น เนื่องจากท่าทีของทั้ง “ฝ่าย รัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” ยังคงแสดงท่าที “คุมเชิง” โดยต่างฝ่ายต่างออกหมัด ล้วนเป็นภาพสะท้อนซึ่งแสดงเห็นถึง “ไฟการเมืองที่ยังคงคุกรุ่น” และพร้อมปะทุเป็น “ไฟบรรลัยกัลป์” ที่เผาทำลายประเทศได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตามการดับ “ไฟการเมือง” ที่ลุกโชติช่วงมาเป็นเวลายาวนานให้มอดสนิทนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งกว่า “งมเข็มในมหาสมุทร” แต่จากความเสียหายที่ชาติบ้านเมืองได้รับจากวิกฤติทางการเมืองที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ “ประชาชน” นอกจากจะไม่ต้องการให้เกิดกรณีดังกล่าวอีกแล้ว ยังต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจดจำ และนำบทเรียนที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,182 คน ในประเด็น ประชาชนคิดอย่างไร? กับ สถานการณ์การเมืองไทย ณ วันนี้ เพื่อทำให้รับรู้แนวทางการฝ่าวิกฤตการเมืองในทัศนะประชาชน สรุปผลได้ ดังนี้ “5 อันดับ สถานการณ์การเมืองไทย” ณ วันนี้ ที่ประชาชนเป็นห่วงมากที่สุด พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 83.30 คือ ระเบิดในกทม. เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวล อาจมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างสถานการณ์อีก ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 65.59 เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง ยังมีช่องโหว่หลายจุด เกรงว่าจะยืดเยื้อ กฎหมายต้องเป็นกลาง มีความเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ วิวาทะระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ร้อยละ64.94 เพราะมีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้งฝังรากลึก เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ มุมมองแนวคิด การทำงานที่แตกต่างกัน ฯลฯ การถวายสัตย์ของนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 56.60 เพราะเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านนำมาโจมตี ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของนายกฯ โดยตรง ฯลฯ และการแยกตัวของพรรคเล็กบางพรรคจากรัฐบาล ร้อยละ 55.62 เพราะส่งผลต่อเสถียรภาพและคะแนนเสียงของรัฐบาล รัฐบาลมีปัญหาเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการต่อรองตำแหน่งของพรรคเล็ก ฯลฯ ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการฝ่าวิกฤตทางการเมืองของรัฐบาล ณ วันนี้ มากน้อยเพียงใด? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 38.70 คือ ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะ รัฐบาลโดนเพ่งเล็งหลายเรื่อง ถูกคัดค้านต่อต้าน ไม่เป็นที่ยอมรับ การเมืองมีแต่แก่งแย่ง ต่อรองตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์ ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 36.06 เพราะ สถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน เป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ ไม่มีเสถียรภาพ ก่อนที่จะเริ่มจัดตั้งรัฐบาลก็มีปัญหามาโดยตลอด ฯลฯ ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ19.27 เพราะเคยเป็นรัฐบาลมาก่อน มีประสบการณ์ทางการเมือง ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง น่าจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ฯลฯ และเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 5.97 เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำรัฐบาล เชื่อว่านายกฯจะควบคุมสถานการณ์ได้ ฯลฯ ใคร? ที่ประชาชนคิดว่าจะสามารถช่วยฝ่าวิกฤตทางการเมืองให้ผ่านไปได้ พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 36.73 คือ ประชาชน เพราะประชาชนมีสิทธิมีเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ควรรับฟังเสียงของประชาชน ทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ฝ่ายค้าน ร้อยละ 27.46 เพราะมีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล คอยคานอำนาจไม่ให้รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป มีนักการเมืองรุ่นใหม่ๆหลายคน ฯลฯ ฝ่ายรัฐบาลโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำ ร้อยละ 21.86 เพราะมั่นใจในตัวนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นในศักยภาพ มีความเป็นผู้นำ เด็ดขาด รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองอย่างเต็มที่ ฯลฯ และทุกคนทุกฝ่าย ร้อยละ13.95 เพราะหากทุกคนทุกฝ่ายนึกถึงส่วนรวม มีความสามัคคีปรองดอง ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เชื่อว่าน่าจะฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี ฯลฯ ทำอย่างไร? การเมืองไทย ณ วันนี้ จึงจะผ่านพ้นวิกฤต พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ56.88 คือ หยุดการทะเลาะเบาะแว้ง ถอยคนละก้าว รับฟังความเห็นต่างให้มากขึ้น รองลงมา ได้แก่ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องเห็นแก่ส่วนรวม ร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ร้อยละ 49.32 และช่วยกันปฏิรูปการเมือง ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ร้อยละ 21.94 คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า “คำตอบที่กลั่นออกมาจากใจประชาชน” ซึ่งสะท้อนผ่านโพลนั้น ถือเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของนำพาการเมืองไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตทางที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย ต่างทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงผลดี ผลเสียของประเทศ และประชาชนเป็นสำคัญ เชื่อว่า “วิกฤตทางการเมือง” น่าจะเป็นเรื่องที่หาข้อยุติได้... ก็ได้แต่ภาวนาให้ “ทุกฝ่าย” ทำหน้าที่ เพื่อชาติ...ประชาชน อย่างที่ “กล่าวอ้าง” เสียที...เผื่อว่า ชาตินี้ จะได้เห็น “การเมืองไทยที่มีเสถียรภาพ”...“เมืองไทย” ที่ก้าวผ่านคำว่า “วิกฤตทางการเมือง” สักวันหนึ่ง..!!