ก่อนที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะออกมาในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนั้น มีการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ออกมาก่อน โดยระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือในรอบเกือบ 5 ปี ต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 เติบโตชะลอลงจากไตรมาส 1 ปี 2562 ที่จีดีพีขยายตัวร้อยละ 2.8 ส่งผลให้จีดีพีครึ่งปีแรก 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปัจจัยหลักที่ทำให้จีดีพีไตรมาส2 ปีนี้เติบโตชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 และเชื่อว่าเป็นจุดต่ำสุดของปีนั้น มาจากปัญหาการส่งออกติดลบร้อยละ 4.2 จากไตรมาสแรกที่ติดลบร้อยละ 4 ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ -จีน นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลง รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลง และรายได้ท่องเที่ยวยังขยายตัวต่ำด้วย ทั้งนี้ สศช.ได้ปรับลดประมาณจีดีพีปี 2562 โตร้อยละ 3 หรือเติบโตในช่วงร้อยละ 2.7 - 3.2 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 หรือเติบโตในช่วงร้อยละ 3.3 - 3.8 ส่วนเศรษฐกิจปี 2563 คาดขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยเหตุผลที่ปรับลดจีดีพี มาจากการส่งออกที่ชะลอลงมาก คาดส่งออกปีนี้ติดลบร้อยละ 1.2 จากเดิมคาดโตร้อยละ 2.2 โดยมีความกังวลเรื่องภาวะความอ่อนแอของเศรษฐกิจยูโรโซนเพิ่มเติม ขณะที่การบริโภคโตร้อยละ 4.2 และการลงทุนโตร้อยละ 3.8 อย่างไรก็ตาม นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการบริโภค ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งการส่งออกให้มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังกลับมาขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งปีหลังไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน เร่งการเบิกจ่าย การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ดูแลเกษตรกรแรงงานผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี และรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศการเมืองในประเทศ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังขยายตัวได้ร้อยละ 3.4 จึงจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 โตร้อยละ 3 ตามเป้าหมาย “เศรษฐกิจไทยแค่เซ ยังไม่ถึงกับทรุด แต่เราต้องทำอะไรบ้าง ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปัจจัยเสี่ยงมีทั้งเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด และความผันผวนเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง” กระนั้น ต้องจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เราคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการนั้น เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจเพียงเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้จำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจออกมาอีก โดยเฉพาะผลกระทบด้านการส่งออก อันสืบเนื่องจากเหตุชุมนุมประท้วงยืดเยื้อที่ฮ่องกง จึงจำเป็นต้องมีแผนรับมือและเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งให้กลไกเศรษฐกิจในระยาว