เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
คนไทยจำนวนมากรู้ว่าวันวาเลนไทน์ คือวันแห่งความรัก คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่ไม่รู้ว่าวันมาฆบูชาคือวันอะไร และปีนี้ตรงกับวันอะไร วันวาเลนไทน์คงไม่ใช่อิทธิพลของศาสนาหรือวัฒนธรรมตะวันตกที่ครอบงำสังคมไทย แต่เป็นลัทธิบริโภคนิยมที่มาพร้อมกับศาสนา คล้ายกับเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่มิชชันนารีชาวตะวันตกเดินหน้า บรรดาทหารตามหลังไปครอบงำครอบครองอาณานิยมทั่วโลก
เทศกาลคริสตมาสที่ผ่านมา พระสันตะปาปาฟรันซิสได้เตือนชาวคริสต์ทั่วโลกว่า คริสตมาสได้กลายเป็นเพียงการฉลองภายนอก เป็น “ถูกจับเป็นตัวประกัน” โดยวัตถุนิยมบริโภคนิยม ผู้คนไม่ได้เข้าใจเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของเทศกาลนี้
พระสันตะปาปาบอกว่า ผู้คนต่างก็มุ่งกันแต่เรื่องของขวัญให้กันและกัน แต่เย็นชาต่อคนชายขอบ ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย คนยากคนจน สนใจแต่เรื่องความสนุกสนานรื่นเริง การบริโภค ความฟุ้งเฟ้อ รูปแบบภายนอก ความเด่นความดังในสังคม
บรรยากาศและค่านิยมเช่นนี้ทำให้ผู้คนสนใจแต่เรื่องของตัวเองมากกว่าคิดถึงคนอื่นและส่วนรวม ทำให้เกิดการเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง ความอยุติธรรมต่างๆ เพราะกดทับความรู้สึกดีๆ การยอมรับคุณค่าดีงาม ความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
พระสันตะปาปาบอกว่า “วิถีแห่งความหลุดพ้นที่แท้เปิดกว้างสำหรับคนที่มีใจซื่อและเรียบง่าย” ทรงเรียกร้องให้ชาวคริสต์ตื่นจากการหลับไหลไปกับค่านิยมทางวัตถุ ปฏิบัติตนอย่างมีสติ (to act soberly) ในโลกที่กระตุ้นทุกวิถีทางให้คนบริโภคมากขึ้น มีมากขึ้น
พระสันตะปาปาฟรันซิสได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีชีวิตที่เรียบง่ายตั้งแต่เป็นประมุขของศาสนจักรที่อาร์เจนตินา และเมื่อเป็นโป๊ปก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง วันที่ได้รับเลือกนั้นก็ยังเดินทางไปจ่ายค่าที่พักในกรุงโรมด้วยตนเอง เป็นพระสันตะปาปาที่เดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถเฟี้ยต 500L คันจิ๋ว
การปฏิรูปศาสนาคริสต์ในสังคายนาวาติกันที่สอง (1963-1965) ได้พูดถึง “สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งที่คนเป็น ไม่ใช่สิ่งที่คนมี” แต่คนยุคใหม่มีมากกว่าแต่ก่อน แต่ความสุขไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังสมณสาร (Encyclical) ของพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ในปี1967 (Populorum Progressio) ได้ให้รากฐานคุณค่าทางศีลธรรมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ว่า
“ความก้าวหน้าทุกอย่างเป็นดาบสองคม เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้มนุษย์เติบโต แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจจะครอบงำทำให้คนเป็นทาส ถ้าหากคนยึดเอาเป็นสรณะสูงสุดและไม่สามารถมองให้พ้นจากนี้ได้”
สังคมวันนี้ วัดคุณค่าของคนจากสิ่งที่คนมี มากกว่าสิ่งที่คนเป็น คนเลวๆ ยังได้รับการยอมรับนับถือเพียงเพราะเป็นคนรวย มีเงิน มีสถานภาพทางสังคม แต่งตัวดี มีบ้านหลังใหญ่ รถยนต์คันโต
ในคำนำหนังสือ “จะเลือกเงินหรือชีวิต” (โจ โดมิงกซและวิกกี้ โรบิน) พระไพศาลวิสาโลได้เขียนในคำนำว่า “เงินได้ถูกสถาปนาให้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของสรรพสิ่ง ตั้งแต่บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ไปจนถึงประเทศ แม้แต่ความสำเร็จ ของรัฐบาลก็ดูกันที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยิ่งกว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมหรือดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชากร”
“ในระดับบุคคล เงินได้กลายเป็นเครื่องวัดคุณค่าชีวิตไปแล้ว คนรวยจึงมีคุณค่ามากกว่าคนจน ใครที่มีเงินเดือนน้อยก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าด้อยกว่าเศรษฐี เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินจึงกลายเป็นจุดหมายของชีวิตไปในที่สุด ผลคือ ชีวิตเราถูกเงินครอบงำและผลักดันในแทบทุกด้าน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในนามความเจริญ ก้าวหน้าของชีวิตและการพัฒนาประเทศ”
ในวันมาฆบูชาและวันวาเลนไทน์ที่มาพร้อมกันปีนี้ ควรหยุดคิดสักนิดว่า บริโภคนิยมได้บิดเบือนเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของเรามากน้อยเพียงใด ได้ทำลายภูมิคุ้มกันตัวเราไปมากน้อยเพียงใด ได้ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณหรือไม่เพียงใด
ทุกศาสนาสอนให้คนรักกัน ให้มีเมตตา ให้รู้จักให้ ให้รู้จักให้อภัย เพราะนั่นคือการปลดปล่อย เป็นอิสระ เป็นความหลุดพ้นที่แท้จริง เราโชคดีที่มี “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ให้รู้ว่าจะอยู่ให้รอด พอเพียงและมั่นคงยั่งยืนวันนี้ได้อย่างไร อยู่อย่างไรให้พอดี บนทางความถูกต้องดีงาม ใช้วิชาความรู้และสติปัญญาในการดำรงชีพ อยู่อย่างมีเป้าหมายและมีแบบแผนเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดีเป็นชีวิตที่ “พึ่งตนเองได้” และ “มีความสุข” อันเป็นหัวใจของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง