รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
“รัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” ถือเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” ทางการเมืองที่มักจะมีกรณีกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ แล้วยิ่งการเมืองในยุคหลัง ๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลมักจะได้เปรียบฝ่ายค้านในด้านจำนวน ส.ส. ในสภา ก็ยิ่งทำให้การฟาดฟัน “นอกสภา” ทวีความดุเดือดมากขึ้น จนทำให้ “ประชาชน” จำนวนไม่น้อยเกิดอาการ “เอียน” การเมือง...
“รัฐบาล” (Government) ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึง องค์กร หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกครองและบริหารภายในโดยเป็นผู้กำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อจัดระเบียบทางสังคม และดำเนินทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รัฐบาลจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองรัฐ จากความหมายดังกล่าวจะทำให้สามารถพิจารณาให้เห็นบทบาทหน้าที่ตามหลักทฤษฎีของรัฐบาล ส่วนบทบาทของ “ฝ่ายค้าน” ในเวทีการเมืองที่คนทั่วไปต่างรับรู้คงหนีไม่พ้นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเพื่อสร้างสมดุลในการบริหารประเทศ
จากบทบาทหน้าที่ที่อยู่ต่างขั้วการเมืองย่อมส่งผลให้ “รัฐบาล” และ "ฝ่ายค้าน” ซึ่งโดยปกติก็ยากที่จะ “ญาติดีต่อกัน” กันอยู่แล้ว เมื่อผนวกกับการต่อสู้กันตามวิถีทางทางการเมืองชนิดที่ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็ต้องเอาด้วยคาถา ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และฝ่ายค้าน ตกอยู่ในสภาพ “เส้นขนานทางการเมือง” ที่ยากจะหาจุดบรรจบ
แม้ว่า “รัฐบาลประยุทธ์ 2” จะพึ่งเปิดศักราชในการได้เป็นรัฐบาลได้ไม่นาน แต่การต่อสู้ชิงไหวชิงพริบในสงครามการเมืองของสองขั้วการเมืองกลับมีความดุเดือดเลือดพล่านเป็นอย่างมาก ซึ่งการฟาดฟันกันนั้นมีให้เห็นทั้งในแบบ “มิติเก่าบนความน้ำเน่าซ้ำซาก” ประเภทสาดโคลนโจมตี และจำลองสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติเป็น “สมรภูมิน้ำลาย” โดยมีตัวอย่างให้เห็นจากการแถลงนโยบาย ซึ่งมีการ ตอบโต้ปะทะคารมกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ดุเดือดเลือดพล่าน “ด่าจริง เจ็บจริง” ชนิดที่ว่า “หนังบู๊ไทยเทศยังต้องชิดซ้าย” (โดยเฉพาะกรณีตัดพี่ตัดน้องระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวสที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง)
“มิติใหม่ที่สร้างความแปลกใหม่อันสดใส” ให้กับแวดวงการเมืองไทย โดย “ฝ่ายค้าน” ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มีการลงพื้นที่ 6 จุด ทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดขอนแก่นที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยติดตามสภาพปัญหาภัยแล้งและรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข
การดำเนินการดังกล่าว เพื่อดูแลประชาชน ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับรู้ข้อมูล ความเดือดร้อน ตลอดจนเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง แต่ “จุดบอด” ของการดำเนินการคงหนีไม่พ้นลักษณะของกระบวนการทำงานที่ดูเหมือนจะเป็น “การข้ามหน้าข้ามตา...การหักหน้ารัฐบาล” ซึ่งอาจเป็นชนวนให้เกิดการชิงดีชิงเด่นกันมากขึ้น
ในขณะที่รัฐบาล และฝ่ายค้านต่างทำหน้าที่ของตนตามแนวทางที่ต่างฝ่ายต่างคิดว่าดี แต่มีใคร “รู้” ถึงความต้องการแท้จริงของ “ประชาชน” หรือไม่ว่าต้องการอะไร?
เมื่อ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยดุสิตได้ถาม “ประชาชน” จำนวน 1,902 คน ในประเด็น ฝ่ายรัฐบาล – ฝ่ายค้าน เดินหน้าอย่างไร? จึงจะถูกใจประชาชน ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
สิ่งที่ประชาชนเห็นว่า “ฝ่ายรัฐบาล” ต้องทำอย่างเร่งด่วน คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 76.98 คือ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ปากท้องของประชาชน เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ค้าขายลำบาก ควรเร่งช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง ฯลฯ
สิ่งที่ประชาชนเห็นว่า “ฝ่ายค้าน” ต้องทำอย่างเร่งด่วน คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 51.88 คือตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการคานอำนาจไม่ให้รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ ลดปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น ฯลฯ
ความต้องการดังกล่าว ถือเป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของเสียงเพรียกหาการทำงานบน “ความลงตัว” ของรัฐบาล และฝ่ายค้าน โดยเฉพาะความเข้าใจและปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน เรียนรู้ในบทบาทของผู้อื่น และเข้าใจว่าทุกบทบาทมีความสำคัญ โดยสิ่งที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องคำนึงถึงมากที่สุดนั้น ไม่ใช่การทำงานเพื่อ “ทีมรัฐบาล” หรือเพื่อ “ทีมฝ่ายค้าน” แต่ทำงานเพื่อ “ทีมประชาชน”...
ที่ผ่านมานั้น การทำงานของ “รัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” มักจะเป็นไปในลักษณะ “ขัดแข้งขัดขา” มาโดยตลอด ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำงานเป็นไปในลักษณะดังกล่าว เนื่องจาก การทำงานที่เกินความพอดี จนคล้ายเป็นการเอาดีใส่ตัว เป็นการชิงดีชิงเด่น และทำให้เกิดการแก่งแย่ง แย่งชิง ซึ่งส่งผลให้ “ประชาชน” รู้สึกหงุดหงิด และเบื่อหน่ายการเมืองในที่สุด...
ณ วันนี้ คงถึงเวลาที่ “รัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” จะควานหาแนวทางในการเดินหน้าประเทศที่จะถูกใจประชาชน ตลอดจน “ความลงตัว” ของการทำงานภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยไทยเสียที..!! แม้จะแสนยาก แต่ก็ต้องทำ อย่าคิดว่า “ประชาชน” นั้น “ของตาย” อะไรๆ ก็ได้ แล้วจะรู้สึก!!