รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
แถลงนโยบาย...กิจกรรมที่คู่กับ “การเมืองไทย” ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคที่อภิปรายถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุ ผ่านโทรทัศน์ จนถึงยุคที่อภิปรายผ่านอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมือง ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือแม้แต่ ส.ส. ธรรมดา ก็ดูเหมือนจะเลี่ยงกิจกรรมนี้ได้ยากจริงจริง..!!
กระแสการบ้านการเมืองขณะนี้ คงต้องพูดตรงตรงว่า “ร้อนแรงสุดสุด” โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดเผยคำแถลงนโยบายรัฐบาล ก่อนที่จะมีการแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 25 ก.ค. 2562 สำหรับ ซึ่งรายละเอียดสำคัญ ประกอบด้วย
นโยบายหลัก 12 ข้อ ได้แก่ 1) ปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2) สร้างความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุข ของประเทศ 3) ทำนุบำรุงศาสนาและวัฒนธรรม 4) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก 5) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย 6) การพัฒนาพื้นที่ศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
7) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 8) ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของไทยทุกช่วงวัย 9) สาธารณสุขความเสมอภาคและสวัสดิการที่เหมาะสมกับกลุ่มประชาชน 10) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติมโตอย่างยั่งยืน 11) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ และ 12) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและกระบวนการยุติธรรม
นโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ได้แก่ 1) แก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน 2) ปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3) มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับการผันผวนของ เศรษฐกิจโลก 4) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร 5) พัฒนานวัตกรรมการยกระดับศักยภาพของแรงงาน 6) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต 7) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21
8) แก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายข้าราชการประจำ 9) แก้ไขปัญหายาเสพติดและความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 10) พัฒนาระบบการให้บริการประชาชน 11) สนับสนุนให้มีการศึกษาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และดำเนินเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 12) การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
การเปิดเผยนโยบายดังกล่าวได้รับความสนใจ และทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีสัดส่วนของนโยบาย เป็นของพรรคพลังประชารัฐเป็นส่วนใหญ่ นโยบายต่างๆ ดูเหมือนจะสานต่อมาจากนโยบาย คสช.ที่ใช้ขับเคลื่อนประเทศตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นโยบายที่นำเสนอเป็นนโยบายกว้างๆ และไม่มีนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน หรือแม้แต่กรณีการกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายเร่งด่วน ดูเหมือนเป็นการดำเนินการเพื่อรักษาน้ำใจพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์
นอกจากนั้นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากสังคมอีกหนึ่งประเด็น ก็คือ การแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งแม้จะเป็นกระบวนการทางรัฐสภาที่เป็นเงื่อนไขในการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี และเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในทางนโยบายก่อนการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีได้ โดยผ่านกระบวนการที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวดูเหมือนเป็นธรรรมเนียมปฏิบัติธรรมด๊าธรรมดา
แต่สำหรับการแถลงนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ ถูกจับตามองในหลากหลายประเด็น เช่น พลเอกประยุทธ์ ซึ่งนำทัพ ครม.แถลงนโยบายรัฐบาลเองนั้น จะสามารถอดทนต่อการถูกอภิปรายได้นานหรือไม่? เพราะที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์จะคุ้นชินกับการใช้อำนาจนิยมมาตลอด รวมถึงศักยภาพในการจัดทัพอภิปรายของฝ่ายค้าน ต้องอภิปราย ซึ่งควรอภิปรายโดยเน้นนำเสนอเนื้อหาสาระ ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ และไม่ควรพูด เรื่องเดิมๆ ที่ดูเหมือนเป็นแผ่นเสียงตกร่อง เช่น บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย - เผด็จการทหาร- สืบทอดอำนาจ
นี่คือ ส่วนหนึ่งของกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ณ วันนี้ กรณี 12 นโยบายหลัก...12 นโยบายเร่งด่วน และการแถลงนโยบาย ครม.ประยุทธ์ 2 ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ล้วนเป็นการนำเสนอตามมุมมอง ความคิด และทัศนคติที่แตกต่างไปของคนแต่ละคน
อย่างไรก็ตามในฐานะประชาชนสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ และเฝ้าจับตาดูในการแถลงนโยบาย ก็คือ เนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ตลอดจนขั้นตอน หรือการผลักดันนโยบายไปสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ เพราะ “นโยบาย” เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เปรียบเสมือน “กรอบแห่งการบริหารประเทศ” มิใช่เป็นเพียง “พิธีกรรม...กระบวนการ” ที่สร้างความสมบูรณ์ของการทำหน้าที่ให้แก่รัฐบาลเท่านั้น....แต่เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนแบบเต็มเต็ม
เมื่อการแถลงนโยบาย ครม.ประยุทธ์ 2 มีความสำคัญต่อประเทศชาติอันเป็นที่รัก ยิ่งแล้ว...ก็อยากให้ประชาชนติดตามชมอย่างตั้งอกตั้งใจฟัง...ไม่ใช่ฟังผ่าน...ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา...และช่วยกันจดจำ...ตรวจสอบว่า “รัฐบาลทำตามนโยบาย” มากน้อยเพียงใด?
พูดง่ายๆ คือ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศอย่างแท้จริงเท่านั้น...จึงจะเรียกว่าเป็น “ประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้”...!!