รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนหวังว่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่อาจทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา โดยเฉพาะกรณีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีการเปิดเผยโผรายชื่อคณะรัฐมนตรีรอบใหม่ล่าสุด ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลการเลือกตั้ง ยังไม่เป็นไปอย่างที่ประชาชนคาดหวัง คือ การมีรัฐบาลบริหารประเทศชุดใหม่ แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดบทเรียนทางการเมืองในสังคมไทย บทเรียนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 ในมิติของนักวิชาการ "กูรูทางการเมือง" อาจจะมองไปที่ผลคะแนนทั้งของพรรคพลังประชารัฐ และอนาคตใหม่ รวมถึงภูมิใจไทยที่ได้คะแนนเสียงมากเกินคาด ในขณะที่พรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งน้อยเกินคาด โดยเฉพาะความโดดเด่นของพรรคอนาคตใหม่ ที่แจ้งเกิดในเวทีการเมืองไทยอย่างเต็มภาคภูมิ ปัจจัยที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้รับความนิยมนั้น นอกจากจะเกิดจากความชื่อนชอบในตัวหัวหน้าพรรค "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"แล้ว การที่พรรค "อนาคตใหม่" สามารถใช้สื่อโซเชียลปลุกกระแสให้คนเกาะติดกระแส เช่น แฮชแทค "ฟ้ารักพ่อ" หรือแม้แต่การมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า "ไม่เอาเผด็จการ" ขณะที่ความไม่ชอบมาพากลที่ยังแคลงใจหลายๆ คนกระทั่งในตอนนี้ ไม่ว่าจะจำนวนเปอร์เซ็นต์ ผู้มาใช้สิทธิที่น้อยกว่าที่รับรู้และควรจะเป็นมาก คืออยู่เพียงแค่ 65-66% เท่านั้น, การมีบัตรเสียจำนวนมากมาย เกือบๆ 6%, บัตรจากต่างแดนมาไม่ทันและกลายเป็นบัตรเสียไป กรณีบัตรเกินที่ดูจะมีปริมาณมากมายเหลือเกิน (ซึ่งรวมไปถึงจำนวนที่นั่ง ส.ส. พึงมีที่เกินเกณฑ์ด้วย) หรือกรณีข้ามคืนแล้วคะแนนเสียงผู้สมัครพรรคหนึ่งหายไปเป็นหมื่นๆ อันดับร่วงจากที่ 1 ไปเป็นที่สองหรือสามในบัดดล เป็นต้น ล้วนเป็นบทเรียนทางการเมืองที่ถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ล้วนเป็นบทเรียนทางการเมืองที่ส่งผลต่อคนไทยแบบเต็มเต็ม ดังนั้นการสะท้อนความคิดเห็นประชาชนจำนวทั้งสิ้น 1,215 คน ในประเด็น บทเรียนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ในสายตาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งของ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงน่าจะเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนกี่ยวกับ "บทเรียนทางการเมือง" ได้ในอีกหนึ่งมิติ โดยสรุผลได้ ดังนี้ หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เรื่องที่ประชาชน"สมหวัง" คืออะไร? พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 42.67 คือ ประชาชน คนรุ่นใหม่ตื่นตัว ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น รองลงมา ได้แก่ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ร้อยละ 38.00 และผู้สมัครที่เลือกชนะเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ชอบได้ ส.ส.หลายคน ร้อยละ 21.33 หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เรื่องที่ประชาชน"ผิดหวัง" คืออะไร? พบว่า"คำตอบ"ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 54.75 คือ ปัญหาการทำงานของ กกต. การเลือกตั้งไม่โปร่งใส ประกาศผลล่าช้า รองลงมา ได้แก่ ยังคงขัดแย้ง ถึงจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ ร้อยละ 30.68 และเลือกตั้งผ่านมานานแล้วแต่ยังไม่มีรัฐบาล ร้อยละ 18.29 บทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ประชาชนคิดว่า"เป็นประโยชน์"ต่อการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป คืออะไร? พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 43.63 คือ ต้องมีระบบตรวจสอบการนับคะแนนที่เป็นมาตรฐาน โปร่งใส รองลงมา ได้แก่ การทำหน้าที่ของ กกต.ต้องเป็นกลาง ตรวจสอบได้ ร้อยละ 33.05 กระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ร้อยละ 26.00 จะพิจารณาตัดสินใจเลือก ส.ส. ให้ละเอียดมากขึ้น ดูจากพฤติกรรม ส.ส.ในครั้งนี้ ร้อยละ 23.61 และควรมีการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า จัดการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 17.41 สิ่งที่ประชาชน "ประทับใจ" ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คืออะไร? พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 47.18 คือ มีนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ รองลงมา ได้แก่ ประชาชนตื่นตัว คนรุ่นใหม่สนใจติดตามข่าวสารการเมืองไทยมากขึ้น ร้อยละ 32.66 และเป็นรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมือง มีนโยบายที่หลากหลาย ร้อยละ 26.21 สิ่งที่ประชาชน "อยากลืม" ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คืออะไร? พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 43.39 คือ การแบ่งโควต้า แย่งชิงตำแหน่งกัน เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง รองลงมา ได้แก่ ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 36.61 และความล้มเหลวของระบบการเมืองไทย ได้นักการเมืองหน้าเดิม ๆ เข้ามาบริหารประเทศ ร้อยละ 22.03 บทเรียนทางการเมืองที่กล่าวข้างต้นนี้ ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า "คนไทยไม่ได้ลืมง่าย"อย่างที่ใครใครคิด แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยให้โอกาสการเมืองไทยที่เคยทำให้คนไทยผิดหวังซ้ำซาก...เป็นเพราะความมีน้ำใจ....การให้อภัยของคนไทย จึงทำให้คนไทยยังสามารถอาศัยในสังคมที่เต็มไปด้วย "รอยแผล"จากการเมืองเฉกเช่นทุกวันนี้ได้ สุดท้ายก็คงถึงบทสรุปที่ว่าบทเรียนที่ผ่านมาของการเมืองไทย "คนไทย" ส่วนใหญ่พร้อมจะนำ "บทเรียนแห่งผิดพลาด" มาแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิด "ความคิดพลาดซ้ำซาก" ซึ่งหาก "นักการเมืองไทย" รู้จักนำ "บทเรียนที่ผ่านมาแล้ว" มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เชื่อว่า "บทเรียนซ้ำรอยเดิม" ที่สร้างความบอบช้ำให้การเมืองไทย...ให้ประเทศไทย ก็คงไม่เกิดขึ้น จริงไหม?