เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ปัญหาอาหารกลางวันเด็ก แก้ที่ปลายเหตุคงไม่มีวันจบ ครูบางคนก็คงหาโอกาสและวิธีการโกงไปได้อีก เงินกับระเบียบอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้ารัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และให้นโยบายชัดเจน ปัญหาอาหารกลางวันเด็กน่าจะแก้ได้อย่างยั่งยืน
ที่โรงเรียนประถมรักประชาราษฎร์ ครูวางเป้าหมายไว้ว่า จะให้นักเรียนมีอาหารกลางวันที่ได้จากผลงานของการเรียนของนักเรียนเองอย่างพอเพียง แต่ละชั้นจะได้รับหน้าที่ในการปลูกผักชั้นละแปลง
เด็กๆ เรียนรู้และลงมือปลูกผักที่ต่างกันแบบผสมผสาน พริก มะเขือ ถั่วผักยาว ฟัก ฟักทอง ฟักข้าว บวบ กระเพา โหระพา สะระแหน่ หอมแบ่ง ตะไคร้ มะกรูด มะนาว ผักบุ้ง ผักกาดหอม และอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อการประกอบอาหารตามฤดูกาล รวมทั้งการเพาะเห็ด เพาะถั่วงอกอีกด้วย
ส่วนต้นไม้ใหญ่ก็ร่วมกันปลูกร่วมกันดูแลทั้งครูนักเรียน อย่างแค เพกา มะรุม สะเดา มะขามเปรี้ยว ตามรั้วก็ปลูกกระถิน ชะอม หวาย และมะขามปลูกถี่ๆ ตัดเตี้ยเพียง 1.50 เมตรทำเป็นรั้วและเก็บยอดทำอาหารหรือขาย (เพราะรั้วรอบโรงเรียนยาวเป็นร้อยๆ เมตร) ปลูกมะละกอและกล้วยไว้จำนวนมาก ใช้ได้ทุกส่วนของต้นกล้วย ทำน้ำหมักชีวภาพ นอกนั้น ยังนำมูลหมู ไก่ และเศษขยะมาทำแก๊สและพลังงาน
ชุมชนมีส่วนร่วมในโครงการอาหารกลางวันตั้งแต่ผอ.คนใหม่เข้ามา เขาเชิญพ่อแม่ผู้ปกครองมาประชุมเพื่อวางแผนร่วมกัน โดยครูได้ให้ข้อมูลว่า อาหารมีความสำคัญต่อเด็กนักเรียนอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะให้ลูกหลานเติบโตแข็งแรง ฉลาด ไปเรียนต่อสูงๆ ได้ มีโรคอะไรที่มากับอาหารจากตลาดที่ปนเปื้อนสารเคมี ทำให้คนเจ็บป่วยและเป็นโรคต่างๆ จนชุมชนเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือ
นอกจากให้เมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ หลายคนยังให้ลูกหมู ลูกไก่ และพันธุ์ปลาอีกด้วย รวมทั้งให้คำแนะนำลูกหลานของตนเองว่าจะดูแลผักและสัตว์เลี้ยงต่างๆ อย่างไร เพราะครูบอกว่า การทำกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้อาหารกลางวันอย่างเดียว แต่ได้เงินส่วนแบ่งจากการขายและได้คะแนนด้วย
ผอ.ให้นโยบายว่า อาหารกลางวันต้องไม่ใช่เรื่องแยกต่างหากจากการเรียนการสอน แต่ให้เป็นส่วนหนึ่งที่เด็กได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรื่องการเกษตร ได้ทั้งวิชาการและทักษะ รู้คุณค่าอาหารในผัก ปลา หมู ไก่ ไข่ รู้เรื่องสารเคมีในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ซึ่งที่โรงเรียนไม่ใช้เลย นักเรียนทำเกษตรอินทรีย์
วันเสาร์อาทิตย์ ครูขอให้ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนที่เก่งๆ พาเด็กไปเรียนรู้เรื่องต้นไม้ในป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ นำเมล็ดไม้ใหญ่อย่างยางนา พยูง ประดู่ มะค่า ตะเคียน และอื่นๆ นำมาเพาะมากล้าที่เรือนเพาะชำของโรงเรียนรวมกับกล้าไม้อื่นๆ ขายได้เท่าไรแบ่งให้นักเรียนที่เป็นผู้เพาะกล้าเอาไว้ออม
ผอ.คนนี้ไม่เชื่อเรื่อง “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” เพราะทุกเวลาล้วนเป็นการเรียนรู้จริงที่บูรณาการการทำโครงงานอาหารกลางวันและการมีเงินออมให้กลายเป็น “เนื้อหาสาระ” สำคัญของการเรียนรู้ไม่ว่าวิชาใดก็สามารถเรียนจากผัก พืช สัตว์ ดิน ปุ๋ย การทำอาหาร ซึ่งเด็กมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน โดยไม่ต้องจ้างคนนอก เพราะการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำอาหารก็เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติที่ดี ให้เขาได้เรียนรู้คุณค่าและวิธีการทำให้อาหารที่ดี ที่มีประโยชน์ต่อเขามากที่สุด
ที่โรงเรียนรักประชาราษฎร์ จึงมีอาหารดี ไม่มีสารเคมีตกค้าง และมีอย่างพอเพียง ทั้งสำหรับนักเรียนและครูตลอดปี มีรายได้จากการขายผลผลิตที่เหลือจากการประกอบอาหารอีกส่วนหนึ่ง
อีกกรณีที่โรงเรียนธรรมาประชานาถ โรงเรียนขยายโอกาสที่โชคดีได้ผู้บริหารที่เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ได้ให้ครูนักเรียนท่อง “สามห่วงสองเงื่อนไข” แต่ให้ลงมือปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ว่าทุกคนเข้าใจจริง โดยการทำ “โครงการอาหารกลางวันแบบเพอเพียง” เพื่อทุกคนในโรงเรียน
นอกจากการแบ่งหน้าที่การทำการเกษตรในลักษณะคล้ายกับที่โรงเรียนรักประชาราษฎร์ แล้ว เนื่องจากมีนักเรียนถึง ม.3 จึงเพิ่มการสร้างโรงเรือน และปลูกผักต่างๆ ที่ใช้เพื่อทำอาหาร โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการควบคุมการให้น้ำ ความชื้น แสงแดด โดยใช้แอปพลิเกชั่นที่ได้รับการอนุเคราะห์จากสวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีแห่งชาติ)
ผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับความร่วมมือกับชุมชนทั้งในตำบล ในอำเภอจังหวัดเป็นอย่างดีทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยการทำโครงการเสนอขอความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาโครงการนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่ออาหารกลางวัน แต่เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ บูรณาการกับวิชาการต่างๆ
เมื่อได้ผลดีก็ขยายโรงเรือนหรือผักกางมุ้งไปอีกสองโรง ทำให้ได้เรียนรู้การปลูกผักอีกหลากหลาย รวมทั้งการทำสวนครัวแนวตั้ง สวนผักในกระถาง การทำเห็ดหลายชนิด ซึ่งเน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติให้รู้จริง ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เกษตรศาสตร์ วิชาการทำอาหารจากผลผลิตจากสวนของโรงเรียน
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากห้องแล็ปเล็กๆ ทำให้นักเรียนได้ค้นพบว่า ผักที่ซื้อจากตลาดนั้นปนเปื้อนสารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพอย่างไร มีสารเคมีอะไรบ้าง ทำให้เกิดโรคอะไรบ้าง และได้ค้นพบว่า ผักแต่ละชนิดมีสารอาหารอะไรบ้าง มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร
เด็กๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้เรียนอย่างมีความสุข ไม่เครียด ได้ทำกิจกรรมที่ไม่ได้คิดแบ่งแยก “เวลาเรียนกับเวลารู้” เป็นโรงเรียนที่ชุมชนยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุน เพราะครูเคารพภูมิปัญญาของชาวบ้าน ให้เกียรติและให้มีส่วนร่วมด้วยความจริงใจ ไม่ดูถูกชาวบ้าน
นี่คือโรงเรียนที่เข้าใจ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ถามว่า “จะพึ่งตนเองได้อย่างไร และจะมีความสุขได้อย่างไร” มีอีกหลายโรงเรียนที่ทำได้ดีกว่านี้ แต่โรงเรียนที่นักเรียนกินไม่อิ่ม เรียนไม่สนุก และไม่มีความสุขนั้นมีมากกว่ามาก