หลังการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ หรือ จี20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่นอุณหภูมิขอสงครามการค้ามีความผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อมีสหรัฐอเมริกาและจีนกลับเข้าสู่เวทีเจรจาอีกครั้ง กระนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ด้วยภาระหน้าที่ผู้นำทั้งสหรัฐอเมริกา และจีนต้องแบกรับ ทำให้การประชุมจี20ในครั้งนี้คงจะมีความท้าทายอย่างมากในการหาสมดุลเพื่อนำไปสู่บทสรุปของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้ในทันที แต่การประชุมนี้จะเป็นการชะลอเวลาของการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันให้เลื่อนออกไป ซึ่งในท้ายที่สุดแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะรู้ถึงผลกระทบเชิงลบที่ตามมาจากการยกระดับแรงกดดันทางการค้าระหว่างกัน แต่ถ้าการเจรจาคืบหน้าล่าช้า ประกอบกับบทบาทในฐานะผู้นำประเทศ สหรัฐฯ คงจำเป็นต้องเดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2562 ในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนการเก็บภาษีสินค้าจีนในรอบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผลกระทบของการเก็บภาษีในรอบนี้คงมากกว่าการเก็บภาษีในรอบอื่นๆ เพราะเป็นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ สินค้าเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และสมาร์ทวอร์ท ซึ่งจะยิ่งกดดันทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจจีน รวมทั้งส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงมีผลต่อเนื่องไปตลอดในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อีกด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลของสงครามการค้าที่มีต่อการส่งออกของไทยทั้งที่ส่งไปจีนและที่ผลกระทบที่ส่งผ่านมาทางคู่ค้าไทยในอาเซียนน่าจะยังคงอยู่ในกรอบที่ 2,100 – 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะขยับขึ้นสู่กรอบบนของประมาณการก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ เริ่มใช้แผนการเก็บภาษีร้อยละ 25 กับสินค้าจีนรอบที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมเพิ่มเติมที่ไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผ่านแรงกดดันสู่กำลังซื้อของตลาดส่งออกอื่นๆ ของไทย ยิ่งจะซ้ำเติมการส่งออกในภาพรวมของไทยขึ้นอีกและผลกระทบทั้งหมดอาจลากยาวและร้อนแรงต่อเนื่องไปยังในปี 2563 อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ เดินหน้ากดดันจีนต่อแบบแข็งกร้าว โดยเก็บภาษีสินค้าจีนที่เหลือรวดเดียวทั้งหมดในอัตราร้อยละ 25 หรืออาจยกระดับการเก็บภาษีสินค้าที่เคยเก็บไปแล้วสูงขึ้นอีก พร้อมด้วยมาตรการกดดันธุรกิจจีนในด้านอื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะยิ่งกดดันให้ภาพการค้าไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 อ่อนไหวลงอีกกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งแนวทางนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากเกินไป และอาจกระทบฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งใหม่ กระนั้น ภายใต้ความอึมครึมของสงครามการค้าโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่จะเข้ามาดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ ก็น่าเป็นห่วงว่าจะขุนพลด้านเศรษฐกิจจะรับมือกับมรสุมทั้งภายในและภายนอกอย่างไร