มีผลการศึกษาที่น่าสนใจของต่างประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาลที่จะสะท้อนถึงสถานะทางเศรษฐกิจ หรือรายได้ในอนาคต บทความจาก BBCThai อ้างอิงถึงโครงการติดตามศึกษาเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลในระยะยาวของรัฐควิเบก ตีพิมพ์รายงานข้างต้นในวารสาร JAMA Psychiatry โดยระบุว่าได้ติดตามพัฒนาการในชีวิตของเด็กวัย 5-6 ขวบ จำนวน 2,850 คน เป็นระยะเวลานานถึง 30 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมา เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความมีสมาธิมุ่งมั่นในชั้นเรียน ซึ่งครูประจำชั้นได้ให้ไว้กับเด็กอนุบาลแต่ละคน กับระดับของรายได้เมื่อเด็กโตขึ้นจนมีอายุในวัย 30-32 ปี พบว่าเด็กที่ตั้งอกตั้งใจเรียนมากกว่าจะมีรายได้สูงกว่าเพื่อนที่มีพฤติกรรมวัยเยาว์ในทางตรงข้าม เช่นใจลอย เสียสมาธิง่าย ชอบต่อต้านขัดขืนกฎระเบียบ ทีมผู้วิจัยยืนยันว่า 96% ของเด็กที่ถูกติดตามศึกษาทั้งหมดมาจากครอบครัวคนผิวขาว มีระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีภูมิหลังของบิดามารดาที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของระดับการศึกษา อายุ สถานะการมีงานทำ และสถานภาพการสมรส ผลการวิจัยยังพบว่าทุก 1 คะแนนที่เด็กถูกประเมินว่าขาดสมาธิ ส่งผลให้ในอีก 30 ปีต่อมา เด็กชายจะมีรายได้น้อยกว่าเพื่อนโดยเฉลี่ยปีละ 1,271 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 39,000 บาท) ส่วนในกรณีของเด็กหญิงจะมีรายได้ต่ำกว่าเพื่อนราวปีละ 924 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,400 บาท) นอกจากนี้ เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบชกต่อยกลั่นแกล้งเพื่อน หรือชอบก่อกวนต่อต้านไม่เชื่อฟังครู ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีรายได้ต่ำกว่าผู้อื่นโดยเฉลี่ย 700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (21,500 บาท) แต่กรณีเช่นนี้พบได้เฉพาะในกลุ่มเด็กผู้ชายเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม เด็กอนุบาลที่มีพฤติกรรมเข้ากับสังคมได้ดี เช่น ช่วยห้ามการทะเลาะวิวาท ช่วยเหลือคนที่บาดเจ็บ หรือชวนเพื่อนใหม่มาเล่นด้วยกัน มีแนวโน้มจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีรายได้สูงกว่า เมื่อเทียบกับเด็กที่เข้าสังคมได้ไม่ดีนัก โดยพบว่าจะมีรายได้สูงกว่าเพื่อนโดยเฉลี่ย 476 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (14,600 บาท)อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยย้ำว่าแม้พฤติกรรมในวัยอนุบาลและรายได้ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะมีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน แต่ก็ยังไม่ทราบชัดว่า ทั้งสองสิ่งมีความเป็นเหตุเป็นผลต่อกันอย่างไรแน่ ซึ่งจะต้องมีการศึกษากันในรายละเอียดต่อไป ส่วนข้อดีของการค้นพบแนวโน้มความสัมพันธ์นี้ ทีมผู้วิจัยชี้ว่าจะช่วยให้เด็กที่มีพฤติกรรมแบบส่งผลทางลบได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีตั้งแต่ปฐมวัย และสามารถจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตในอนาคตได้ นับว่าเป็นการศึกษาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แม้จะเป็นการศึกษาในบริบทของต่างประเทศ ที่อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกับประเทศไทย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจนำไปต่อยอด และถอดถลยุทธ์ออกมาเพื่อสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต