รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จากกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การเมืองไทยในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ว่า การตั้งรัฐบาลจะเรียบร้อยภายในเดือนกรกฏาคมนี้ การเปิดเผยดังกล่าวนั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การจัดตั้ง ครม.ใหม่ที่มีความล่าช้านั้น จะส่งผล "เสียหาย" ต่อสังคมไทย...หรือไม่? ข้อเขียนนี้ แม้อาจ "ฟันธง" ได้ไม่ชัด...แต่ก็น่าสามารถแบ่งปันข้อมูลให้แก่สังคมได้ไม่มากก็น้อย...!! หากมองในมิติ การตั้งครม.ใหม่ "ช้า" แต่ "ไม่เสียหาย" เป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เพียงแต่ให้อำนาจเต็มแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยังสามารถใช้อำนาจนั้นได้ตามปกติแม้จะมีการเลือกตั้งเท่านั้น คณะรัฐมนตรีชุดเก่า ก็ยังสามารถทำหน้าที่ได้ แม้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง คือ 17 คน จาก 35 คน แต่ยังเดินหน้าอนุมัติงบประมาณ อนุมัติโครงการตามปกติ ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็มีการเร่งประมูล เร่งอนุมัติสัมปทานต่างๆไปหลายโครงการ เช่น ดิวตี้ฟรีในสนามบิน รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น ขณะที่การมองในมิติ การตั้งครม.ใหม่ "ช้า" จะ "สร้างความเสียหาย" เป็นการมองโดยมุ่งประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะวิกฤติงบประมาณ การตั้ง ครม. ล่าช้า ส่งผลให้งบประมาณปี 2563 ถูกเลื่อนออกไป 3 เดือน จากเดิม ตุลาคม 62 เป็นมกราคม 63 (ถ้าได้รัฐบาลในเดือนกรกฎาคม) ทำให้ "ไม่มีเม็ดเงิน" ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้ เศรษฐกิจไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 63 (ตุลาคม-ธันวาคม) ได้รับผลกระทบราว 70,000-80,000 ล้านบาท ดังนั้น ต้องหาวิธีชดเชยเม็ดเงินที่สูญเสียไป เช่น เบิกงบอบรมพัฒนาข้าราชการในไตรมาส 2 หรือ 3 มาใช้ในไตรมาส 1เป็นต้น ส่วน ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในภาพรวม การตั้งรัฐบาลช้า จะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทำให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์เดิมที่ 5% นอกจากนั้นจากผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกทั่วโลก ยังส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทย ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเดิมอีกด้วย นี่คือ "ความไม่เสียหาย" และ "ความเสียหาย" จากความล่าช้าในการตั้ง ครม. ซึ่งใครจะมองว่า "ไม่เสียหาย" หรือ "เสียหาย" ก็คงขึ้นอยู่กับว่าจะมองในมิติใด..??? (แต่ถ้ามองในมิติของ "ประชาชน" ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก "ปัญหาเศรษฐกิจ" ก็น่าจะเดาได้ไม่ยากเลยว่า "ประชาชน" รู้สึกอย่างไร? แบบไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว) อย่างไรก็ตาม แม้การจัดตั้ง ครม.ประยุทธ์ 2 จะยังไม่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ แต่ก็เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองและถูกจับตามองอย่างมาก รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี "โผ ครม.ประยุทธ์ 2" จำนวนทั้งสิ้น 1,254 คน สรุปผลได้ ดังนี้ ประชาชนคิดอย่างไร? กับ โผครม. ที่เป็นกระแสข่าว ณ วันนี้ พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 32.81 คือ ปัญหาเยอะ มีแต่เรื่องผลประโยชน์ การต่อรอง แย่งเก้าอี้กันวุ่นวาย รองลงมา ได้แก่ บางตำแหน่งไม่เหมาะสม ควรตรวจสอบคุณสมบัติ ประวัติให้รัดกุม ร้อยละ 28.13 เป็นการจัดสรรตามโควต้า มีแต่หน้าเดิม ๆ ระบบพวกพ้อง เครือญาติ ร้อยละ 24.22 ครม.ประยุทธ์ 2 คลอดช้า ใช้เวลานานเกินไป ร้อยละ 15.63 และอยากให้เปิดโอกาสให้คนดี คนมีฝีมือเข้ามาทำงาน ร้อยละ 13.67 "จุดแข็ง" ของ โผ ครม. คืออะไร? พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 44.75 คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำ มีฐานอำนาจเก่า รองลงมา ได้แก่ มาจากการเลือกตั้ง มีเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ร้อยละ 29.83 และส่วนใหญ่มีประสบการณ์ น่าจะทำงานร่วมกันได้ ร้อยละ 27.62 "จุดอ่อน" ของ โผครม.ที่ปรากฏ ณ วันนี้ คืออะไร? พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 51.41 คือ ไม่เป็นที่ยอมรับ อยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมจริงๆ รองลงมา ได้แก่ มีแต่เรื่องผลประโยชน์มากเกินไป ภาพลักษณ์ไม่ดี ร้อยละ 39.79 และไม่มีเสถียรภาพ มีเสียงแตกภายในพรรค ร้อยละ 21.13 ประชาชนอยากให้นายกฯประยุทธ์ ดำเนินการบริหารคณะรัฐมนตรีเหล่านี้อย่างไร? พบว่า"คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 37.19 คือ ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ฟังเสียงของประชาชน รองลงมา ได้แก่ บริหารงานอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ ร้อยละ 30.17 ดูแลการทำงานของทุกกระทรวงให้มีผลงานเป็นรูปธรรม ร้อยละ 29.34 ให้ทุกกระทรวงร่วมมือกันทำงาน พัฒนาบ้านเมือง ร้อยละ 23.14 และประเมินการทำงานเป็นระยะ มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ร้อยละ 15.29 ทั้งหมดนี้ คือ หลากหลายมิติเกี่ยวกับการจัดตั้ง ครม.ทั้งผลกระทบจากการจัดตั้ง ครม. ที่ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงมุมมองการตั้ง ครม. ประยุทธ์ 2 ในสายตาประชาชน"ซึ่งไม่ว่าจะมองการจัดตั้ง ครม.อย่างไร?" แต่มิติที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องให้ความสำคัญที่สุด คือ "มิติความต้องการของประชาชน"... ครม.ใหม่ "ช้า" แค่ไหน?? ก็ไม่เสียหาย...จริงหรือ? น่าเป็น "คำถาม" ที่ตอบยาก เพราะต่างคนต่างมีมุมมอง และมาตรวัดความ "ช้า...เร็ว" "เสียหาย...ไม่เสียหาย" ที่แตกต่างกัน...แต่ถ้าจะวัดว่าจัดตั้ง ครม. แล้ว "โดนใจ" ประชาชน หรือไม่?... ก็คงต้องรอลุ้นว่าหลังประกาศรายชื่อ ครม.จะได้ยิน "เสียงเย้" หรือ "เสียงยี้" ดังกว่ากัน...!!