เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เมื่อปี 2529 เชอรี่แอน ดันแคน เด็กสาววัย 16 ปี ลูกครึ่งไทยอเมริกัน ถูกฆ่าตายที่สมุทรปราการ เป็นตำนานแพะของกระบวนการยุติธรรมไทย ตำรวจจับ 5 คน พนักงานอัยการสั่งฟ้อง 4 คน ทั้ง 4 คนถูกจำคุกเกือบ 6 ปี เป็นการถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นลงโทษ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายกฟ้อง ผู้ต้องหาคนหนึ่งตายในคุก ลูกสาวของอีกคนหนึ่งที่ขาดพ่อถูกข่มขืนแล้วฆ่า ส่วนภรรยาเครียดจนเสียสติ เมื่อศาลฎีกายกฟ้อง 3 คนที่เหลือถูกปล่อยออกมา คนหนึ่งติดโรคร้ายในคุกเสียชีวิต อีกคนหนึ่งเป็นมะเร็งและไม่นานก็เสียชีวิต เหลือเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างทรมาน เพราะกระดูกสันหลังร้าว นอนหงายไม่ได้เหมือนคนพิการเนื่องจากถูกซ้อมให้รับสารภาพ เมื่อมีการสืบสวนสอบสวนใหม่โดยกองปราบตามที่ญาติแพะร้องเรียน ก็สามารถจับผู้กระทำผิดได้และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ตำรวจที่สร้างพยานเท็จถูกไล่ออกจากราชการ แต่หลบหนีไป พยานเท็จถูกจำคุก 8 ปี ญาติแพะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ศาลพิพากษาให้สำนักงานตำรวจชดใช้เงิน 38 ล้านบาท ที่สหรัฐอเมริกา มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเช่นกัน อย่าง The Hurricane ที่นำเอาชีวิตของรูบิน คาร์เตอร์ อดีตนักมวยแชมป์โลกในยุค 1960 มาทำภาพยนต์ ให้บทเรียนแก่ผู้คนได้อย่างน่าสะเทือนใจ เมื่อชายผิวดำคนนี้ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตด้วยข้อหาฆ่าคนผิวขาว 3 คนในบาร์ เกือบ 20 ปีในคุก รูบิน คาร์เตอร์ ได้บทเรียนชีวิตหลายอย่างจากเพื่อนในเรือนจำและจากบุคคลภายนอกที่พยายามช่วยเหลือเขา เขาเรียนวิชากฎหมายและพยายามร้องเรียนให้ฟื้นคดีแต่ก็ไม่เป็นผล รวมทั้งการเดินขบวนประท้วงในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกา คนดังอย่างมูฮัมเหม็ด อาลีและคนมีชื่อเสียงมากมายช่วยกันร้องเรียนก็ไม่ได้ผล มาได้ผลเมื่อคนกลุ่มเล็กๆ 4 คน จากแคนาดาได้เริ่มค้นหาหลักฐานใหม่อย่างจริงจัง และเริ่มจากเด็กชายผิวสีที่ได้รับการอุปถัมภ์จากคนผิวขาวที่ไปเยี่ยมรูบิน คาร์เตอร์ในคุก จนนำไปสู่การฟื้นคดีในที่สุด เขาได้รับการปล่อยตัว เป็นการกล่าวหาที่มาจากการเหยียดผิวที่ยังคงมีอยู่ทั่วไปในสหรัฐอเมริกาวันนี้ ในกรณีของครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ที่สกลนคร กระทรวงยุติธรรมรับเรื่องไว้ช่วยเหลือเพื่อขอให้ศาลพิจารณารื้อฟื้นคดีขึ้นมาเนื่องจากมีหลักฐานใหม่ ซึ่งถ้าหากศาลยอมรับก็จะได้คืนความยุติธรรมให้ครู ซึ่งติดคุกปีครึ่งไปแล้ว ที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมก่อนถึงวันศาลนัด 8-10 กุมภาพันธ์ ก็เพราะทางตำรวจออกมาเป็นขบวนเพื่อยืนยันว่า ที่ทำมาทั้งหมดถูกต้อง และมีขบวนการเถื่อนเข้ามาเกี่ยวข้องสื่อมวลชน โซเชียลมีเดียสะท้อนความรู้สึกของสังคมว่า เห็นด้วยกับครูจอมทรัพย์มากกว่า เพราะพยานหลักฐานต่างๆ เริ่มปรากฎออกมาชัดมากยิ่งขึ้น รอเพียงให้ศาลตัดสินเท่านั้นว่าจะฟื้นคดีนี้หรือไม่ ข้อน่าสังเกตที่ทำให้สังคมไม่ค่อยเชื่อตำรวจเพราะภาพพจน์ตำรวจก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นเช่นไร ครูเองก็บอกสื่อว่า ตอนเข้าไปในคุก คนที่นั่นยังบอกว่าโง่ ทำไมไม่เอาเงินยัดตำรวจ ซึ่งเป็นการพูดที่สาธารณชนฟังแล้วก็เชื่อ เพราะคนทั่วไปก็มักทำกันเช่นนี้ แต่ครูจอมทรัพย์บอกว่า ถ้าทำเช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมก็เสียหายหมด เธอยอมติดคุกเพื่อให้มีการแก้ไขเรื่องนี้ ถ้าหากเธอจะจ้างคนมารับผิดแทน น่าจะทำตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็ยัดเงินให้ตำรวจอย่างที่ใครๆ ก็ทำกัน ไม่ใช่ยอมติดคุกเพื่อจะได้ออกมาขอค่าชดเชย มันคุ้มหรือกับการสูญเสียแทบทุกอย่าง สามีทิ้ง ลูกคนโตตาย ลูกคนเล็กไม่ได้เรียนหนังสือ ตนเองถูกออกจากราชการ เงินเดือน เงินบำเน็จบำนาญไม่มี ไม่มีรายได้และที่สำคัญ ถูกดูถูกดูหมิ่นจากสังคมรอบข้าง การไปสืบค้นหาพยานหลักฐานของกรณีครูจอมรัพย์ก็คล้ายกับกรณีของรูบิน คาร์เตอร์ เป็นเพื่อนและญาติที่ทำ ยิ่งกว่านั้น ในยุคที่ผู้คนสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว เรื่องราวต่างๆ ส่งต่อและกลายเป็นขบวนการประชาสังคมที่รวมตัวกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมโดยไม่ต้องมีใครไปจัดการ มีเพียงคนระดมทุนช่วยครู ก็มีคนลงขันถึง 1 ล้านบาทในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งเธอก็บอกว่าพอแล้วและยังไม่รับจนกว่าคดีจบ บทเรียนสำคัญของกรณีเชอรี่แอนและกรณี “แพะ” ทั้งหลาย คือ การคอร์รัปชั่นที่น่ากลัวที่สุดของสังคมไทยน่าจะอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนี่กระมัง จนทำให้หลายคนกล้าทำผิด กล้าโกงบ้านกินเมือง กล้าก่ออาชญากรรม เพราะรู้ว่า ทำอย่างไรก็ไม่ผิด ไม่ติดคุก คงต้องรอให้กระบวนการฟื้นคดีครูจอมทรัพย์ไปถึงที่สุด สังคมคงได้บทเรียนหลายอย่าง และครูโรงเรียนบ้านนอกคนหนึ่งอาจเป็น “จุดคานงัด” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมก็เป็นได้ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดสำนึกความดีชั่วและละอายต่อบาปในสังคมขึ้นมาบ้าง ถ้ากระบวนการฟื้นคดีรับว่าเธอเป็นแพะจริง เธอน่าจะเป็นวิทยากรเดินทางไปสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก เยาวชนและผู้คนทั่วประเทศ ให้รู้ว่าความถูกต้องดีงามคืออะไร และไม่ยอมทรยศต่อหลักนิติธรรม กรณีครูจอมทรัพย์ไม่ได้เป็นเพียง “เหตุการณ์” ที่เกิดแล้วผ่านไป แต่ได้กลายเป็น “ปรากฎการณ์” ที่ทำให้มีเหตุผลมากยิ่งขึ้นที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะความยุติธรรมคือรากฐานสำคัญยิ่งของการปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ที่กำลังโหยหากันอยู่ในขณะนี้อ