รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
สถานการณ์ทางการเมืองไทยยังคงร้อนแรงมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะข่าวการจับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่พลิกไปมาไม่มีความชัดเจนแน่นอน สร้างความอึดอัดใจให้กับประชาชนที่อยากจะเห็นรัฐบาลใหม่โดยเร็ว แล้วเมื่อเกิดความอึดอัดแล้ว สิ่งที่ตามมา คงหนีไม่พ้นความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการสถานการณ์การเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด ความเบื่อหน่าย หรือการละเลยไม่สนใจการเมือง...
หลากหลายอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการเมือง ณ วันนี้ แม้จะเป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ แต่ก็ไม่มีมาตรวัดใดที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมได้อย่างชัดเจน จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวการเมือง ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,137 คน ในหัวข้อ ความอึดอัดของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล สรุปผลได้ ดังนี้
ประชาชนคิดอย่างไร? กับ ความไม่แน่นอนในการจับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 44.14 คือ เป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน การยื่นข้อเสนอต่อกัน รองลงมา ได้แก่ ภายในพรรคเสียงแตก ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ตกลงกันไม่ได้ ร้อยละ 33.30 ทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาล มีการเลือกข้าง เลือกฝ่ายที่ได้เปรียบ ร้อยละ 17.86 พรรคขนาดกลางเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 12.74 และยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ยังไม่ชัดเจน ร้อยละ 10.69
ประชาชนคิดว่าปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อ เกิดจากสาเหตุอะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 67.45 คือ ผลประโยชน์ไม่ลงตัว แย่งเก้าอี้ ไม่ได้ตามข้อเสนอที่ต้องการ รองลงมา ได้แก่ ผู้นำพรรคยังตัดสินใจไม่ได้ มีความขัดแย้งภายในพรรค ร้อยละ 28.27 และเป็นเกมการเมือง ยังจับขั้วพรรคการเมืองไม่สำเร็จ คะแนนเสียงไม่เพียงพอ ร้อยละ 19.08
สิ่งที่ประชาชนอยากบอก พรรคขนาดใหญ่ (พลังประชารัฐ เพื่อไทย) เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ58.43 คือ นึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ หยุดเห็นแก่ตัว รองลงมา ได้แก่ เคารพกฎหมาย เป็นประชาธิปไตย ฟังเสียงประชาชน ร้อยละ 39.29 และเร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ร้อยละ 26.24
สิ่งที่ประชาชนอยากบอก พรรคขนาดกลาง (ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่) เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล คืออะไร? เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 47.75 คือ รักษาสัญญา ทำตามที่หาเสียงไว้ ไม่โกหกประชาชน รองลงมา ได้แก่ ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เคารพกฎหมาย ร้อยละ 30.81 และคำนึงถึงชื่อเสียง อุดมการณ์ของพรรค ร้อยละ 25.23
สิ่งที่ประชาชนอยากบอกพรรคขนาดเล็ก เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล คืออะไร? เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 53.42 คือ ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด สร้างผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรม รองลงมา ได้แก่ ไม่สร้างความวุ่นวาย อยู่ในขอบเขต หยุดตอบโต้กันไปมา ร้อยละ 34.70 และไม่ยอมเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นตัวแทนของประชาชน ร้อยละ 18.72
ประชาชนมีข้อเสนอแนะอย่างไร? ที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลรวดเร็วและประสบผลสำเร็จ พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 43.73 คือ ปฏิบัติตามหลักสากล เคารพเสียงส่วนใหญ่ เป็นประชาธิปไตย รองลงมา ได้แก่ ลดการต่อรอง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากเกินไป ร้อยละ 40.31 และถอยคนละก้าว ลดทิฐิ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ร้อยละ 31.77
โดยภาพรวมแล้ว กรณีการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองมากน้อยเพียงใด? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 76.29 คือ เบื่อหน่ายมากขึ้น เพราะการเมืองไทยมีแต่ความขัดแย้ง แย่งชิงผลประโยชน์ ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วแต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ฯลฯ
รองลงมา ได้แก่ เบื่อหน่ายเหมือนเดิม ร้อยละ 19.45 เพราะ หากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ยังคงมีทิฐิด้วยกันเหมือนเดิมเหตุการณ์ต่างๆก็ยังคงมีอยู่แบบนี้ต่อไป ยังมองไม่เห็นหนทางแก้ไขให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายลงได้ ฯลฯ และเบื่อหน่ายน้อยลง ร้อยละ 4.26 เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนสนใจการเมืองมากขึ้น ได้เลือกตั้ง เป็นการแสดงออกทางการเมือง ฯลฯ
นี่คือ ภาพสะท้อนความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึกจากสังคม ซึ่งแม้ว่าประเด็นการเมือง โดยเฉพาะการเลือกรัฐบาล ณ วันนี้ จะเป็นสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัด แต่ก็อยากให้ระงับความรู้สึกไว้เพียงแค่ “ความอึดอัดทางการเมือง” เท่านั้น
แต่อย่า!! ให้ลุกลามจนกลายเป็น “ความเบื่อหน่ายทางการเมือง” เลย ...เพราะหาก “คนไทย” รู้สึกเบื่อหน่าย จนออกอาการไม่อยากเข้าไปยุ่ง มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และมีทัศนคติมุมมองในเชิงลบที่ลุกลาม ทำให้เกิดความไม่สนใจ ไม่อยากมีส่วนร่วม...ไม่ตื่นตัวทางการเมืองแล้ว...ก็ไม่กล้าคิดต่อเลยว่า การเมือง สังคม หรือแม้แต่ประเทศจะต้องอยู่ในสภาพใด??
คงไม่กล้า “ฟังธง” อนาคตประเทศ จะเป็นเช่นไร แต่กังวลว่าหาก “คนไทย” เบื่อหน่ายการเมือง... ก็เกรงว่าในอนาคตอาจไม่มีอะไรให้ “เบื่อหน่าย” อีกต่อไป แม้แต่ชีวิตของคนไทยด้วยกันเอง..!!