ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ของการเปลี่ยนผ่านในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ มีความเป็นสถาบัน ที่ได้ตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ คนที่ 8 ในประวัติศาสตร์ของพรรค คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ โดยได้รับคะแนนโหวต 160 คะแนน แบ่งเป็นคะแนนจากส.ส.ปัจจุบัน 25 คะแนน และคะแนนจากองค์ประชุมอื่นๆ อีก 135 คะแนน พร้อมกันนั้น ยังได้เลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีรองหัวหน้าพรรคทั้ง 4 ภาค ภาคเหนือ นราพัฒน์ แก้วทอง ภาคกลาง สาธิต ปิตุเตชะ ภาคอีสาน ชัยยศ จิรเมธากร ภาคใต้ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และภาคกทม. องอาจ คล้ามไพบูลย์ ส่วนตำแหน่งรองหัวหน้าตามภารกิจ คือนิพนธ์ บุญญามณี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สามารถ ราชพลสิทธิ์ อลงกรณ์ พลบุตร อัศวิน วิภูศิริ กนก วงษ์ตระหง่าน สรรเสริญ สมะลาภา และปริญญ์ พานิชภักดิ์ ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคนายจุรินทร์คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เหรัญญิกพรรค ได้แก่ อภิชัย เตชะอุบล, นายทะเบียนพรรค วิรัช ร่มเย็นและโฆษกพรรค คือ ราเมศ รัตนะเชวง สิ่งที่คอการเมืองเฝ้าจับตาสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ คือ อนาคตทางการเมือง ว่าบนทาง 3 แพร่ง คือ หนึ่งสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเข้าร่วมรัฐบาล สอง ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ และไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล สาม ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เข้าร่วมรัฐบาล โดยเป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่เหนืออื่นใด ภารกิจที่สำคัญของ หัวหน้าพรรคคนใหม่ และทีมบริหารชุดใหม่นั่นคือ การฟื้นฟูให้พรรคกลับมาอยู่ในใจของประชาชน “ขอเรียนว่าประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ อะไรดีต้องรักษาไว้ อะไรสมควรเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนแต่สิ่งที่ต้องไม่เปลี่ยนคืออุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องไม่เปลี่ยน การทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต้องไม่เปลี่ยน ประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 7 คน หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ไม่มีสิทธิอยู่นอกเหนืออุดมการณ์ความซื่อสัตย์ สุจริต” ส่วนสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ นโยบายวิสัยทัศน์ ต้องเปลี่ยนให้เท่าทันโลก รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการและมองไปข้างหน้า รวมถึงต้องเปลี่ยนระบบบริหารจัดการ ต้องมีระบบบิ๊กดาต้า เอไอ นำมาใช้รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ สังเคราะห์ประกอบการตัดสินใจทางการเมือง เดินหน้าสู่ความทันสมัยในอนาคต บุคลากรต้องเปลี่ยน” นี่คือคำกล่าวของ “จุริทร์”ที่จะถือเป็นสัญญาประชาคม น่าสนใจ โดยเฉพาะข้อที่ว่า การทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตนั้น ในวาระฟื้นฟูพรรค และในฐานะที่พรรคมีความเป็นสถาบันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ควรเป็นผู้นำในการสร้างจริยธรรมทางการเมือง โดยกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในส่วนของพรรคให้มีสภาพบังคับสมาชิกพรรค ที่จะเข้าสู่การเมืองในอนาคต