รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ยามบ้านเมืองอยู่ในช่วงวิกฤติที่พึ่งของ "ประชาชน" ก็คงไม่พ้นรัฐบาล แล้วยิ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องแบกรับ "ความคาดหวัง"ของ "ประชาชน" ในการกู้วิกฤติชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จากกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองต่างๆ ณ วันนี้ นอกจากจะไม่ทำให้ "สมหวัง" แล้ว ยังดูเหมือนจะทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดอาการ "ผิดหวัง" อีกด้วย... สิ่งที่สร้าง "ความผิดหวัง"คงไม่ต้องมองไกล แค่กระแสข่าวการต่อรอง เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งดูเหมือนว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ก็คือ "การได้จำนวนโควต้าตำแหน่ง รมต." นั่นเอง เมื่อไม่นานมานี้ แม้จะมีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ สามารถร่วมเสียงได้ถึง 256 เสียงแล้ว โดยการจัดโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีเวลานี้ถูกแบ่งเป็นหลายส่วนประกอบด้วย สัดส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดว่าจะมี 4 ตำแหน่งหลักในกระทรวงสำคัญ คือ นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.มหาดไทยของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยในส่วนของพรรคพลังประชารัฐจะถูกแบ่งโควต้าออกเป็นของกลุ่ม 4 อดีตรัฐมนตรี กลุ่มสามมิตร และกลุ่ม กทม. ขณะที่พรรคร่วมอื่นๆ เช่น พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จะได้พรรคละประมาณ 6 ตำแหน่ง ทั้ง รมว. และ รมช.คละเคล้ากันไป และพรรคชาติไทยพัฒนาจะได้ 1 เก้าอี้ รมว. และ 1 รมช. นอกจากนี้ยังมีส่วนของพรรคเล็กที่จะรวมกลุ่มกันมาเพื่อต่อรองเก้าอี้อีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะมีการจัดสรรโควต้า รมต. แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีมีกระแสข่าวในทำนองที่ว่าการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวจะยังไม่ตรงใจพรรคร่วมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ซึ่งต่างไม่พอใจการแบ่งโควต้าฯ เพราะไม่ได้รับการจัดสรรให้ดูแลกระทรวงหลัก และกระทรวงเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ตอบรับการร่วมรัฐบาลจาก พปชร. ก็คือ ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกฯ แต่ปฏิเสธ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และบุคคลอื่นๆ ที่มาจาก คสช. กระแสข่าวการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการเมืองไทย เพราะเมื่อมีการเจรจาหาแนวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองที่เข้าร่วมต่างก็ต้องการได้รับการจัดสรรให้ดูแลกระทรวงสำคัญๆ ทั้งสิ้น (หรือใครจะกล้าปฏิเสธ??) หากมองในเชิงบวกแล้ว ก็พอจะสรุปปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคไหนๆ ก็อยากดูแลกระทรวงใหญ่ๆ ได้ดังนี้ การดูแลกระทรวงใหญ่จะได้รับความสนใจจากสังคมได้ออกสื่ออย่างสม่ำเสมอ และอยู่ในสายตาประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากทำงานได้ดี ก็จะมีผลงานชัดเจน และสร้างชื่อเสียง ทำให้เป็นที่นิยมชมชอบ เกิดกลุ่มแฟนคลับทางการเมืองที่จะเป็นฐานเสียงระยะยาว และสร้างฐานอำนาจทางการเมืองได้ง่าย นี่คือ การมองในเชิงบวก แต่หากมองเชิงลบ ก็คงต้องยอมรับว่าการคุมกระทรวงใหญ่ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากนั้น จะทำให้มีโอกาสได้รับผลประโยชน์สูง (คำว่า "ผลประโยชน์" ก็ไม่อยากให้เหมารวมไปว่าหมายถึง เงินตราเท่านั้น แต่อยากให้มองไปถึงการมีอำนาจ บารมี หรือแม้แต่การเป็นที่รู้จักและการมีชื่อเสียง..!!) ดังนั้น หากพรรคการเมืองต่างๆ มีโอกาสจะได้เป็นรัฐบาลก็ย่อมต้องพยายามต่อรอง เพื่อให้ได้ร่วมรัฐบาลอย่างสมเกียรติ สมฐานะ มีโอกาสสร้างผลงาน เพื่อให้สามารถ "ลืมตาอ้าปาก" ในวงการการเมืองให้ได้เสียที แล้วอย่างนี้ การต่อรองทางการเมืองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด จะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร? “โควต้า รมต.” ที่พรรคต่างๆ พยายามช่วงชิงกัน แม้จะไม่ใช่เรื่องเกินคาดทางการเมือง แต่สิ่งที่อยากให้ทุกพรรคให้ความสำคัญ ก็คือ เมื่อได้โควต้า รมต. แล้ว จะสามารถหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเพียงพอในการรับตำแหน่งนั้นๆ หรือไม่? เพราะบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษ "เป็น ส.ส. ที่มากกว่า ส.ส." โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และ "ภาวะผู้นำ" (Leadership) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็น ไแต้มต่อ" ที่จะเสริมให้บุคคลที่เป็นรัฐมนตรีสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากสามารถต่อรองจนได้ตำแหน่งสำคัญๆ แต่ไม่สามารถหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้แล้ว ก็กล้าพูดได้เต็มปากเลยว่า การแบ่ง "โควต้า รมต." ก็จะถูกครหาจากสังคมว่าเป็น "การแบ่งเค้ก...แบ่งโควต้า" แบ่งผลประโยชน์ทางการเมือง..."การตอบแทนบุญคุณทางการเมือง"เข้าทำนองสมบัติผลัดกันชม...เพียงเท่านั้น ที่เขียนไปทั้งหมดนี้ ไม่มีเจตนา เพื่อ "ว่ากล่าว" "ตำหนิ" "ติเตียน" หรือแม้แต่ "ประเมิน" ว่าการเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมานั้นใครได้ได้เปรียบเสียเปรียบ ใครถูกใครผิด แต่ต้องการสื่อให้ทุกฝ่ายดำเนินการจัดสรร "โควต้า รมต." โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ คือ การปูทางที่นำไปสู่การได้มา ซึ่ง "นักการเมืองและรัฐมนตรีคุณภาพ" ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่อยากได้ยินคำว่า "โควต้า รมต." กี่ยุคกี่สมัย ก็แบ่งเค้ก...แบ่งผลประโยชน์กันเหมือนเดิม ฟังแล้ว "ปวดใจ" จริงจริง...!!