“กำแพงภาษี” กลายเป็นหนึ่งในอาวุธที่ใช้ทำลายล้างกันใน “อภิมหาสงครามการค้า” ระหว่างยักษ์ใหญ่ 2 ซีกโลก คือ สหรัฐอเมริกาและจีน ที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดชนิดตาต่อตาฟันต่อฟันมาแล้วหลายยก ล่าสุด สงครามปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ได้ประกาศว่าจะขึ้นภาษีน้ำเข้าสินค้าจีนในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยระบุว่า จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิม 10 % เป็น 25% พร้อมกันนี้ยังมีแผนเรียกเก็บภษานำเข้าสินค้าจีนวงเงิน 3.25 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 25% ในเร็วๆนี้ด้วย โดยประกาศดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่จะมีการเจรจาที่กรุงวอชิงตันที่กำหนดขึ้นในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเวทีเจรจาที่กรุงวอชิงตัน จะมีการขึ้นภาษีจริงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ฝ่ายจีนย่อมจะมีมาตรการตอบโต้อย่างแน่นอน และผลพวงของสงครามการค้า นักวิเคราะห์มองว่า จะส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่กำลังชะลอตัวอยู่แล้ว คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ถึงกับยกให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก เข้าตำราตามสำนวนไทยที่ว่า “ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญ” หันมาดูบ้านเรา ทันที่ข่าวดังกล่าวออกมาในช่วงกลางสัปดาห์ ก็ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัด ในตลาดหุ้น ดัชนีซื้อขายหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาระดับหนึ่ง รับข่าวดังกล่าว แม้จะมีเสียงเตือนไม่ให้ตื่นตระหนก ด้วยคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะสั้นก็ตาม แต่ในภาวะที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการออกมา ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น หากมีปัจจัยเศรษฐกิจโลกเข้ามากดดันอีก ย่อมไม่เป็นผลดีเท่าไหร่นัก ขณะที่มีเสียงจากผู้เกี่ยวข้อง เช่น ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ยืนยันว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมด้วยการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อรองรับกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะรุนแรงและมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ประสงค์ ยังเชื่อว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 3.4% เพราะแม้ไทยจะส่งออกไปสหรัฐฯในสัดส่วนที่ลดลง และการส่งออกไปจีนที่อาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ไม่น่ากังวลมาก ส่วนภาคการท่องเที่ยวมองว่า ยังมีความแข็งแกร่ง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังเดินทางเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบริโภคภาคในประเทศเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 ทำให้เชื่อว่าแนวทางดังกล่าว จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3.8% แน่นอน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ความตึงเครียดระหว่าง 2 ยักษ์มหาอำนาจโลก จะยังคงดำเนินต่อไป โดยเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นปัจจัยภายในประเทศจึงต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อรองรับแรงกระแทก