ใกล้เปิดเทอมใหญ่ปี 2562 ทุกปี ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอย่างหนึ่งคือ โรงจำนำ ที่บรรดาผู้ปกครองจะนำทรัพย์สิน และของมีค่าต่างๆไปจำนำ เพื่อนำเงินสดออกมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ให้กับบรรดาบุตรหลาน โดยมีข้อมูลจากสำนักงานสถานธนานุบาล ว่าได้เตรียมวงเงินไว้สูงถึง 120 ล้านบาท จากเมื่อปีที่แล้วเตรียมไว้ 96 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2562 ไว้ที่ประมาณ 28,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.6% จากเมื่อปีก่อน โดยประมาณการนี้ ได้คำนึงถึงการออกมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 500 บาทต่อบุตร 1 คน (จ่ายครั้งเดียว) รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน และกีฬา รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2562 ของภาครัฐแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ราคาสินค้าและค่าบริการด้านการศึกษาหลักๆ ในปีนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าบำรุงการศึกษาและกิจกรรมต่างๆ ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ขณะที่ในส่วนของสินค้าด้านการศึกษา อาทิ ชุดนักเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้ายังคงให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการคงราคาสินค้า รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มโมเดิร์นเทรด และร้านค้ามีการจัดโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษและการนำแบรนด์สินค้าที่มีราคาไม่สูงมาทำตลาดเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและภาระรายจ่ายที่สูง ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า รายจ่ายด้านการศึกษาเพื่อบุตรหลาน นอกจากจะมีค่าเทอม ค่าบำรุงและกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนแล้ว ผู้ปกครองบางรายมีการใช้จ่ายในส่วนของการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบ อาทิ ค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา (ซึ่งเป็นการเรียนทั้งในสถานที่กวดวิชาและการเรียนเป็นรายชั่วโมงทั้งเรียนเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม) และเสริมทักษะ ซึ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาของบุตรหลานในสภาวะการแข่งขันทางการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากผลสำรวจที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งยังคงมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนพิเศษ กวดวิชาเพิ่มขึ้น มีค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 2,500-5,000 บาทต่อคน ซึ่งผู้ปกครองบางรายมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยเพื่อให้บุตรหลานมีความเข้าใจและมีความรู้มากขึ้น สามารถที่จะสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่ต้องการและเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า ปัจจัยที่ผู้ปกครองเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของโรงเรียนเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ การเดินทางสะดวก ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก สภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม และความเข้มข้นทางวิชาการ หลักสูตร ตามลำดับ ทำให้ผู้ปกครองส่วนหนึ่งจะมีการวางแผนทางการเงินเพื่อใช้จ่ายในส่วนนี้ จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนพิเศษและกวดวิชานั้น เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองอย่างยิ่ง และน่าสนใจว่าการออกข้อสอบเกินชั้นเรียน ในการสอบเข้าในระดับมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดข้อสอบจึงไม่ออกภายใต้กรอบของการศึกษาในระดับชั้นที่เด็กได้เรียนมา นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่บีบให้ผู้ปกครองต้องขวนขวายให้บุตรหลานไปเรียนพิเศษและกวดวิชาเพิ่มเติมหรือไม่? และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด