คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลาง ปี 2562 ที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ซึ่งมุ่งหวังให้คุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยดีขึ้นและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก อาทิ เพิ่มเบี้ยคนพิการ 200 บาทต่อคนต่อเดือน ช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของพ่อแม่ช่วงเปิดปีการศึกษาเพิ่มเติม เป็นจำนวน 500 บาทต่อบุตร 1 คน เพิ่มวงเงินซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคจำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐ 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อพยุงการบริโภคและช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากไม่ให้ทรุดตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น และมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกร เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาทต่อคน มาตรการเหล่านี้นับเป็นเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับปากท้องและกำลังซื้อของประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในชนบท ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังยังเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่แผนนี้มีอันต้อง “พับ” ลง เนื่องจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางลบในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการแจกเงิน 1,500 บาทเพื่อไปส่งเสริมการท่องเที่ยวว่าควรจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์กว่านี้ เช่นช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ พัฒนาด้านการศึกษา หรือสนับสนุนด้านสาธารณสุขแทนจะดีกว่า เพราะในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ การออกมาขอให้ใช้ประชาชนใช้เงินให้มากขึ้นและการแจกเงินออกมาตรการกระตุ้นนั้นดูจะเป็นนโยบายที่ย้อนแย้ง เพราะเมื่อค่าครองชีพและข้าวของในชีวิตประจำวันทุกอย่างแพงขึ้น ประชาชนต่างก็พยายามรักษาเงินในกระเป๋าเอาไว้ การจะเอาเงินไปใช้จ่ายท่องเที่ยวฟุ่มเฟือยก็คงเป็นอันดับท้ายๆ ที่คนจะทำ ความย้อนแย้งนี้ยังรวมไปถึงการออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและพยุงเศรษฐกิจ ใช้งบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาทเพื่อ ในขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องหางบประมาณเพิ่ม โดยการรีดเงินออกจากกระเป๋าประชาชนมากขึ้น โดยเพิ่งประกาศขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ-รถเมล์ เฉลี่ย 20% มีแนวคิดการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ หรือกระทั่งการเก็บภาษีความหวานและภาษีบุหรี่ก็จ่อจะขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 10 สตางค์ต่อ 250 ซีซี ในขณะที่ภาษีบุหรี่จะเพิ่มเป็น 40% ซึ่งจะทำให้บุหรี่ต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก 50% หรือแม้กระทั่งการเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ มาตรการเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อผู้บริโภคที่ต้องควักประเป๋าจ่ายเงินเพิ่มขึ้น รวมไปถึงเกษตรกรผู้ผลิตผัก ผลไม้ ยาสูบ ที่ต้องขาดรายได้ เพราะต้องลดกำลังการผลิต หรือถูกตัดโควตาการเพาะปลูกยาสูบ ยังไม่นับปัญหายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ราคายังคงตกต่ำต่อเนื่อง นโยบายภาษีที่ออกมาจึงมีความย้อนแย้งในตัวเองเพราะมาตรการภาษีที่กำลังจะเกิดขึ้นล้วนกระทบภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยและลดกำลังซื้อของประชาชนทั้งสิ้น หากมาตรการเศรษฐกิจไม่สามารถเรียกความมั่นใจของประชาชนให้ฟื้นขึ้นมาได้ และยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมากจนอาจจะสร้างภาระด้านงบประมาณให้กับรัฐบาลชุดต่อไป น่าจะลองคิดง่ายๆ แค่อย่าขยับขึ้นภาษีใดๆ ให้มันสุดโต่งเกินไป จนทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงอยู่แล้วขยับสูงขึ้นอีก ก็เท่ากับเป็นการคืนเงินเข้ากระเป๋าให้กับประชาชนเช่นกัน