ชุมศักดิ์ นิรารัตน์วงศ์
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเป็นวิทยากรบอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโครงการค่ายเยาวชนสมานฉันท์ จังหวัดนราธิวาส ประจำปี 2560 รวม 2 ครั้ง 2 รุ่น แต่ละรุ่นจะมีตัวแทนเยาวชนรวม 50 คนจากโรงเรียนหลายแห่งเข้าร่วม โครงการนี้ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส เป็นผู้ดำเนินการ ณ โรงแรมอ่าวมะนาวรีสอร์ท อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งหลังมีการรับฟังการบรรยายในหลากหลายเรื่องราวจากวิทยากรหลายท่าน รวมถึงทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว จะมีการนำเยาวชนลงพื้นที่ศึกษาแหล่งเรียนรู้ร่องรอยทางวัฒนธรรมในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส ยี่งอ บาเจาะ ตากใบ และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกในเรื่อง “ความสมานฉันท์” เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม
สิ่งที่ผู้เขียนบอกเล่าให้ตัวแทนเยาวชนฟัง คือการขยายความคำว่า “สมานฉันท์” ผ่าน “ความหลากหลาย” ของภูมิภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีรากทางประวัติศาสตร์มายาวนาน จากจุดก่อเกิด พัฒนาการ การเปลี่ยนแปลง ภายใต้อิทธิพลหลายด้าน กระทั่งก่อให้เกิดการผสมผสานหรือการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิม ทั้งเชิงวิถีชีวิต ศรัทธาความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ที่ถักทอโยงใยจากอดีตสู่ปัจจุบัน จากจำนวนประชากรปัจจุบันทั้งหมดในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส (รวม 33 อำเภอ) จำนวนทั้งสิ้น 1,424,728 คน รวม 329,255 ครัวเรือน มีการนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด จำนวน 1,213,387 คน คิดเป็นร้อยละ 85.16 นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 207,033 คน คิดเป็นร้อยละ 14.53 ส่วนภาษาพูด ใช้ภาษามลายูถิ่น (ยาวี) มากที่สุด จำนวน 204,922 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 62.21 รองลงมา ใช้ภาษาไทยผสมมลายูถิ่น 66,938 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 20.36 และใช้ภาษาไทย เพียง 57,395 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 17.43 (ที่มา : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2547)
กล่าวกันว่า ผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ มีหลักยึดในการดำเนินชีวิตอยู่ 3 ประการสำคัญ คือ เป็นคนเชื้อสายมลายู เป็นศาสนิกชนของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และเป็นคนไทย ทั้ง 3 วิถีนี้ถูกบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพและลงตัว ผ่านศาสนาที่ประชาชนนับถือส่วนใหญ่ คือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาซิกข์ ตามลำดับ ทั้งนี้เอกลักษณ์โดดเด่นของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การมีวิวัฒนาการและการผสมผสานทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นแบบ “คนมลายู” โดยคนมลายู และภาษามลายู เป็นชาติพันธุ์และภาษาหนึ่งในตระกูลออสโตรนีเซียน ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน มีการผสมผสานกันทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมมานานนับพันปี เช่น ชาวมลายูกับชาวชมพูทวีป (อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ) ชาวมลายูกับชาวอาหรับ (ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน เยเมน) ชาวมลายูกับชาวจีน ฯลฯ กระทั่งกล่าวกันว่า การผสมผสานทางชาติพันธุ์ ทำให้คนมลายูในภูมิภาคนี้กลายเป็นคนที่มีชาติพันธุ์ร่วมหรือผสมผสาน “ไม่มีใครเป็นมลายูดั้งเดิม” เว้นไว้แต่กลุ่มคนที่ถูกเรียกขานว่า “โอรังอัสลี” หรือคนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งปรากฏอยู่ในผืนป่าฮาลา-บาลา ในเขตอำเภอบันนังสตา และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา และในเขตพื้นที่อำเภอจะแนะ ศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
มีหลักฐานการอยู่อาศัยของชนพื้นเมืองในพื้นที่มาตั้งแต่ 3,000 ปีที่ผ่านมา เรียกโดยรวมว่าพวกโอรังอัสลี (Orang Asli) ได้แก่กลุ่มนิกริโต (Nigrito) เช่น ซาไกและเซมัง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มซีนอย (Senoi) เผ่ามองโกลอยด์ใต้ ได้แก่ บรรพบุรุษของชาวสยามและชาวมลายูอยู่อาศัยมานานนับพันปีเช่นกัน ดังหลักฐานภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำศิลป์ จังหวัดยะลา และเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวานหิน ซึ่งพบหลายแห่งตามถ้ำและที่ราบทั่วไป
หากย้อนประวัติศาสตร์ไปในเชิงภูมิศาสตร์ ภาคใต้ของประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นเหมือนปลายด้ามขวาน เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 5-11 ในนามส่วนหนึ่งของ “แผ่นดินสุวรรณภูมิ” มีลักษณะเป็นคาบสมุทรตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่เป็นอู่อารยธรรมสำคัญ คือ จีนกับอินเดีย อาหรับ-เปอร์เซียน และ ชวา-มลายู เหตุที่ภาคใต้เป็นดินแดนที่อุดมด้วยของป่า ทรัพยากร และเครื่องเทศ ชาวต่างชาติจึงรู้จักพื้นที่ภาคใต้ที่ถูกโอบล้อมด้วย 2 คาบสมุทรว่า “คาบสมุทรทอง” (Chryes Chrasonese, Gold khersomese) หรือ “สุวรรณภูมิ”
ราวพุทธศตวรรษที่ 5 ถึงพุทธศักราช 621 ชาวอินเดียจากแคว้นกุชรัศ ได้อพยพเข้าสู่ชวา-มลายู และภาคใต้ตอนล่างมากขึ้น จนบริเวณสุวรรณภูมิทวีปกลายเป็นอาณาจักรฮินดูและพุทธเกษตร ทำให้วัฒนธรรมฮินดูแพร่หลายเข้าสู่บริเวณนี้อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะตามมาด้วย พุทธศาสนานิกายมหายาน และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9-10 ชาวสยามได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ดินแดนส่วนปลายแหลมมลายู และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ มีการผสมผสานกันระหว่างสายเลือด เป็นผลให้มีอำนาจเหนือฮินดู นำความเจริญก้าวหน้าสู่บ้านเมืองทางตอนใต้ของมลายู จนถึงพุทธศตวรรษที่ 13 อำนาจของสยามที่มีอยู่เหนือดินแดนแหลมมลายู ตกอยู่ในอำนาจหรือเครือข่ายของ “อาณาจักรศรีวิชัย” จากสุมาตรา
สำหรับชาวจีน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 จีนตอนใต้ เช่น ฝูเจี๋ยน ได้เปิดศักราชทางการค้าด้วยการทำการค้าขายและเป็นเครือข่ายกับหลากหลายอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็น เขมร เมืองท่าของศรีวิชัย สุมาตรา คาบสมุทรมลายู และบรรดาเมืองต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจของอาณาจักรมัชฌปาหิตของชวา เชื่อมโยงถึงบอร์เนียว หมู่เกาะฟิลิปปินส์ กระทั่งตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ศาสนาอิสลามเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กษัตริย์ชาวมลายูฮินดู เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม แต่ศาสนาอิสลามเข้าสู่เมืองเคดะห์ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 โดยมีชาวเปอร์เซียมุสลิมและชาวอินเดียอาศัยอยู่มาก ต่อมาจึงถึงยุคของชาติตะวันตก เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ชาวโปรตุเกสเริ่มเดินทางเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทำการค้า ก่อนจะยึดเมืองกัว (โค) ของอินเดีย และต่อมาเข้ายึดเมืองมะละกา และในที่สุดได้เข้าสู่ปาตานี (ปัตตานี) โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินการค้าขายกับปัตตานี ก่อนจะมีชาติอื่นๆ เข้ามาทำการค้ากับปัตตานีเพิ่มขึ้น เช่น ฮอลันดา สยาม จีน ญี่ปุ่น สเปน ฯลฯ โดยช่วงเวลาเดียวกันนั้น “ชาวจีนอพยพ” เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก เพื่อเป็นแรงงาน ช่างฝีมือ พ่อค้าเร่ และพ่อค้าส่งออก
สรุปภาพโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์พื้นที่ภาคใต้ เกี่ยวพันและมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชนชาติต่างๆ มากมายที่หลั่งไหลเข้ามายังดินแดนแห่งนี้ หนังสือ “จีนทักษิณ : วิถีและพลัง” โดย อ.สุทธิวงษ์ พงษ์ไพบูลย์ และคณะสะท้อนว่า ในอดีต แรงจูงใจพิเศษที่เป็นปัจจัยทำให้ชาวจีนและแขกมัวร์ (อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย) มุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เข้ามายังภาคใต้ และพยายามเป็นคนกลางในการขนส่งสินค้าในบริเวณนี้ คือ ของป่าและเครื่องเทศ เครื่องหอมและแร่ กระทั่งสิ่งเหล่านี้ถูกผสมผสานสะท้อนผ่านมิติต่างๆ ของผู้คนแต่ละชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ สืบเนื่องจากดินแดนภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีน และชวา ทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติ เข้ามาและดำรงอย่างผสมผสานอยู่ในพื้นที่เช่นทุกวันนี้
การได้หวนกลับมา “เรียนรู้ร่วมกัน” เพื่อให้เข้าใจ “รากเหง้า” เดิม และพัฒนาการความเข้าใจประวัติศาสตร์แต่ละช่วงเวลา จึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวในปัจจุบัน