ประเทศไทยยังอยู่ในภาวะสุญญากาศ ไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการมาเป็นแรมเดือนแล้ว ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังคงทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปอย่างไม่มีกำหนด โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ภายหลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ในขณะที่เมื่อพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจของไทยมีสัญญาณไม่สู้ดีนัก ล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ประกาศปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจในปี 2562 จากกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวที่ 3.8% ต่อปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเคยคาดการณ์ไว้ที่ 4% เมื่อเดือน ม.ค. 2562 เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวเกินกว่าคาดจนเหลือเพียง 3.4% เทียบจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 4.5% ขณะที่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เผยว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เหลือ 3.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องการส่งออก จากความตึงเครียดทางการค้าของโลก และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ จากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต ยังเป็นประเด็นที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ขณะที่ปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.9% ขณะที่คาดว่าภาคส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ 5.7% ลดลงจากปีก่อน ที่อยู่ที่ระดับ 5.9% ขณะที่ปี 2563 คาดว่าส่งออกจะเติบโตที่ระดับ 5.5% สอดคล้องกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ พร้อมประกาศปรับลดประมาณเศรษฐกิจปี 2562 จาก 4% เหลือแค่ 3.8% เช่นกัน จากปัจจัย เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และมาตรการกีดกันทางการค้าของจีน อาจส่งผลให้การส่งออกไทยโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ขณะที่ปัจจัยในประเทศไทยหลักๆ มาจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งล่าช้า อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย ยังมองว่า นโยบายด้านการเงินการคลังของไทยยังมีศักยภาพค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงยังมีช่องพอที่จะให้รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ขณะที่ สแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าต่างประเทศ ในประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันต่างชาติยังมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน เพราะมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีแผนลงทุนต่อเนื่อง มีความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) มีกฎหมายที่ชัดเจน โดยไม่ได้มองเฉพาะว่าประเทศไทยมีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำ แต่ก็กังวลหากการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้านานกว่า 3 เดือน ซึ่งต้องมีเหตุผลว่าทำไมจึงล่าช้า เราจึงคาดหวังให้การจัดตั้งรัฐบาล เป็นผลสำเร็จโดยเร็วหรือเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ และดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย เมื่อรัฐบาลมีความชัดเจนแล้ว ภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติก็จะมีความเชื่อมันตามมา